ผิวหน้าก็มีช่วงเวลาฟื้นฟูตัวเอง และช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้นก็คือ เวลานอน เพราะในระหว่างที่นอนหลับลึก ฮอร์โมนที่สำคัญ ได้แก่ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) และเมลาโทนิน (Melatonin) จะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอล (Cortisol) จะลดระดับลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหล่านี้ ส่งผลต่อการฟื้นฟูและซ่อมแซมอวัยวะส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งช่วยชะลอริ้วรอยบนผิวด้วย
โดยเฉพาะสาวๆ ที่ชอบแต่งหน้า ควรเช็ดเครื่องสำอางบนใบหน้า รอบดวงตา และริมฝีปากออกก่อนแล้วจึงต่อด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าเพื่อขจัดคราบเครื่องสำอาง สิ่งสกปรก และความมันส่วนเกินออกให้สะอาดหมดจด เพื่อลดโอกาสการอุดตันสะสมบนผิวซึ่งก่อให้ปัญหาสิวตามมาได้ นอกจากนี้ การล้างหน้าให้สะอาดยังช่วยให้ครีมบำรุงซึมเข้าสู่ผิวและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
เพราะช่วงนอนหลับเป็นเวลาแห่งการฟื้นฟูสภาพผิวที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงเหมาะอย่างยิ่งในการบำรุงผิว ประกอบด้วย ซีรัม มอยส์เจอไรเซอร์ และครีมบำรุงผิวรอบดวงตา โดยเลือกสูตรที่ตอบโจทย์ปัญหาผิวของคุณมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการช่วยยกกระชับผิว ลดเลือนริ้วรอย ลดความหมองคล้ำ หรือเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ควรบำรุงผิวหน้าโดยเริ่มจากซีรัมต่อด้วยมอยส์เจอไรเซอร์สำหรับกลางคืน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นเป็นพิเศษ และตามด้วยครีมบำรุงผิวรอบดวงตาให้ผิวรอบดวงตามีชีวิตชีวาขึ้น
ท่านอนที่ดีเลิศสำหรับสาวๆ ที่ไม่อยากมีริ้วรอยคือ ท่านอนหงาย และหมั่นเปลี่ยนผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนให้สะอาดอยู่เสมอ หรือนำมาซักทุกอาทิตย์เพื่อช่วยลดการสะสมของฝุ่นและไร ซึ่งอาจทำให้ผิวหน้าอ่อนแอได้
พยายามทำให้ห้องมืดสนิท อย่าให้มีแสงอื่นๆ มารบกวนและปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม เพื่อช่วยให้นอนหลับสบาย ที่สำคัญคือควรเลือกหมอนที่ช่วยให้คุณหลับสบายตลอดคืน
ช่วงเวลาที่แนะนำให้พักผ่อนนอนหลับคือ ไม่ควรเกิน 22.00 น. ของแต่ละคืนยิ่งนอนเร็วร่างกายก็จะเริ่มฟื้นฟูเร็วและมีเวลาฟื้นฟูเต็มที่ โดยทั่วไปความต้องการนอนหลับสำหรับผู้ใหญ่ประมาณ 7 - 8 ชั่วโมงต่อวัน
เพิ่มความผ่อนคลายโดยทำกิจกรรมเบาๆ เช่น อาบน้ำอุ่น ฟังเพลงจังหวะสบาย หรือนั่งสมาธิ ซึ่งช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphins) ออกมา ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและช่วยให้หลับสบายยิ่งขึ้น
❝ ปรับการนอนให้ถูกวิธีและดูแลผิวให้ถูกต้องก่อนเข้านอน...เพียงเท่านี้ผิวคุณก็จะสวยสดใสต้อนรับวันใหม่อย่างแน่นอน ❞
แหล่งที่มา: สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาชีววิทยา. สาระน่ารู้เกี่ยวกับการนอนหลับ. ตุลาคม 2553.