22 FEB 2022 บทความผลิตภัณฑ์ 5 นาทีในการอ่าน 4528 VIEWS 28 แชร์

บริโภคน้ำมันปลาอย่างไร? | นิตยสารอะชีฟ ฉบับมีนาคม 2565

mar22-health4-03.png

ให้เกิดประโยชน์ ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อ Atrial Fibrillation

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น้ำมันปลา (Fish Oil) คือไขมันที่สกัดได้จากเนื้อและหนังของปลาทะเลมีองค์ประกอบของไตรกลีเซอไรด์และฟอสโฟลิพิด เป็นกรดไขมันกลุ่มโอเมกา 3 ในปริมาณสูง ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ความนิยมบริโภคจึงมีสูง ต่อมามีประเด็นคำถามด้านความปลอดภัยของน้ำมันปลาต่อการก่อปัญหาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation หรือ AF) บทความนี้จึงขอตอบคำถามในประเด็นที่เป็นปัญหาเหล่านี้

ประโยชน์ของน้ำมันปลาต่อสุขภาพในด้านต่างๆ

น้ำมันปลา (Fish Oil) นิยามตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 422 พ.ศ. 2564 คือกลีเซอไรด์ของกรดไขมันชนิดต่างๆ ที่ได้จากปลาหรือสัตว์น้ำประเภทมีเปลือกที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร แบ่งเป็นประเภทต่างๆ พร้อมคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นไปตามประกาศ โดยน้ำมันปลาเข้มข้น (Concentrated Fish Oil) ต้องมีกรดไขมันรวมของ C20:5 (n-3) Eicosapentaenoic Acid (EPA) และ C22:6 (n-3) Docosahexaenoic Acid (DHA) ในปริมาณร้อยละ 35 - 50 โดยน้ำหนักของกรดไขมันทั้งหมด อีกทั้งกรดไขมันชนิด EPA และ DHA ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ต้องอยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์และ/หรือฟอสโฟลิพิด หากเป็นกรณีความเข้มข้นสูง (Highly Concentrated Fish Oil) กรดไขมันรวมของ EPA และ DHA ต้องมีมากกว่าร้อยละ 501

mar22-health4-04.png

ประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำมันปลาที่กล่าวถึงมากที่สุดคือ ด้านการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งคณะกรรมการด้านโภชนาการของสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน (American Heart Association หรือ AHA) ระบุว่าน้ำมันปลาช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยหลายกลไก ได้แก่ ลดการเต้นผิดปกติของหัวใจ ลดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดหลอดเลือดแดงแข็ง ลดความดันโลหิต เสริมการทำงานของไนตริกอ็อกไซด์ต่อการพักของหลอดเลือด ลดภาวะอักเสบ2 กรณีผลต่อการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด กรดไขมันโอเมกา 3 ส่งผลต่อยีนบางตัวที่สร้างโปรตีน SREBP และ HNF-4A เร่งการสลายกรดไขมันในปฏิกิริยาเบต้าอ็อกซิเดชัน ลดการสร้างอะโปโปรตีน B100 ลดการสร้างไลโปโปรตีนชนิด VLDL ในตับ ทั้งสองประการทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง3

mar22-health4-06.png

นอกจากกลไกที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว กรดไขมันโอเมกา 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิด DHA ยังเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ปกติของสมองและดวงตา4 โดย DHA เป็นองค์ประกอบสำคัญของเซลล์สมองในสัดส่วน 40% ของกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในสมอง ช่วยให้เซลล์ประสาททำงานอย่างปกติ ทั้งนี้เซลล์สมองสะสม DHA ตั้งแต่ในครรภ์จนถึงสองขวบ จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับ DHA ครบถ้วน นอกจากนี้ยังพบว่าการเสริม DHA ช่วยให้ความจำดีขึ้น ระดับ DHA ในสมองเพิ่มขึ้นชะลอการเกิดอัลไซเมอร์และโรคทางประสาท ในส่วนของสุขภาพของดวงตา DHA พบมากในเซลล์จอประสาทตา (Retina) คิดเป็นสัดส่วน 60% ของกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงทั้งหมด ช่วยให้การทำงานของจอประสาทตาเป็นปกติ DHA จำเป็นต่อการซ่อมแซมจอประสาทตาที่เสื่อมสภาพ ระดับ DHA ต่ำจึงส่งผลต่อการมองเห็นของดวงตาได้

mar22-health4-07.png

ทั้งนี้ EPA ในน้ำมันปลาสามารถเปลี่ยนเป็น DHA ได้ในสัดส่วนหนึ่งในสี่ ขณะที่กรดไขมันโอเมกา 3 จากพืช ได้แก่ C18:3 (n-3) Alpha Linolenic Acid (ALA) เปลี่ยนไปเป็น EPA และ DHA ได้ต่ำ และจะต่ำยิ่งขึ้นเมื่อร่างกายมีภาวะบางประการ ได้แก่ พันธุกรรม เพศ การบริโภคไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลปริมาณมาก การขาดวิตามินบางชนิด สัดส่วนของโอเมกา 6 และโอเมกา 3 ได้รับวิตามิน A และ Cu มากไป ขาดความสดชื่น เครียด การได้รับยาบางชนิด การดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับไวรัสและการเจ็บป่วย ท้องผูก การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร5

ประโยชน์อีกด้านหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากคือ กรดไขมันโอเมกา 3 ช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการบริโภคฟรักโทสสูง โดยทราบกันดีว่าฟรักโทสจากน้ำตาลทรายและไซรัปฟรักโทสเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน ปัญหาเริ่มจากฟรักโทสเข้าไปก่อกวนการทำงานของสมอง กระทั่งเกิดการเบี่ยงเบนเมแทบอลิซึม นอกจากนี้ยังทำลายความจำ มีรายงานวิจัยพบว่า ปัญหาจากการบริโภคฟรักโทสสูงสามารถแก้ไขได้ด้วยการเสริมกรดไขมันโอเมกา 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่มี DHA สูง6

mar22-health4-05.png


ขนาดของการรับประทานน้ำมันปลาต่อวัน ที่มีงานวิจัยรองรับถึงคุณประโยชน์และความปลอดภัย

ข้อแนะนำการบริโภคน้ำมันปลา สมาคมโรคหัวใจอเมริกันระบุว่า หากไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรบริโภคปลาทะเล 2 มื้อต่อสัปดาห์ หรือเสริมกรดไขมันโอเมกา 3 ไม่น้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ คณะทำงานด้านกรดไขมันจำเป็นของสมาคมโรคหัวใจอเมริกันแนะนำให้บริโภคกรดไขมันโอเมกา 3 650 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแนะนำให้ได้รับกรดไขมันโอเมกา 3 ต่อกรดไขมันโอเมกา 6 (n-3/n-6) ในสัดส่วน 1 ต่อ 47 ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาหรือ US FDA แนะนำว่า ในกรณีการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไม่ควรได้รับกรดไขมันโอเมกาจากปลาทะเลในรูป EPA และ DHA โดยรวมในปริมาณสูงในระดับ 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน8 อย่างไรก็ตาม ในประเด็นหลังนี้ควรตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของ Atrial Fibrillation (ซึ่งไม่แนะนำให้เสริมกรดไขมันโอเมกา 3 เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน)

mar22-health4-09.png


ประเด็นที่ว่าการรับประทานน้ำมันปลาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด Atrial Fibrillation

Atrial fibrillation (AF) หรือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มีความหมายตามที่สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายไว้ว่าเป็น Supraventricular Tachyarrhythmia ที่มีการกระตุ้นของหัวใจห้องบนแบบกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ซึ่งเป็นผลให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนเสียไป โดยมีลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีรูปร่างของ P wave หลายรูปแบบ มีความถี่เกินกว่า 350 ครั้งต่อนาที และไม่สม่ำเสมอ ผู้ป่วย AF อาจไม่มีอาการหรือมาพบแพทย์ด้วยอาการดังต่อไปนี้ ใจสั่น เหนื่อยง่าย เป็นๆ หายๆ เหนื่อยขณะออกกำลัง ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นลมหมดสติ เช่น ในกรณีที่มีความผิดปกติของ Sinus Node ร่วมด้วย หรือมีภาวะ AF ร่วมกับ Preexcitation Syndrome หรืออาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนของ AF เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว เส้นเลือดสมองอุดตัน9

ในกรณี Atrial Fibrillation (AF) หรือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว นับเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งในระยะหลังมีรายงานวิจัยทางการแพทย์และโภชนาการบางชิ้นให้ข้อมูลว่า ผู้ที่บริโภคน้ำมันปลาปริมาณสูงอาจเสี่ยงต่อปัญหา AF หรือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมากขึ้น10, 11 ข้อมูลดังกล่าวสร้างความกังวลแก่ผู้บริโภคน้ำมันปลาอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วย AF และโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวนไม่น้อยนิยมบริโภคน้ำมันปลาและกรดไขมันโอเมกา 3 ซึ่งให้ประโยชน์ต่อการทำงานของหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสรีระวิทยา ด้านคลื่นไฟฟ้า รวมถึงลดภาวะอักเสบ แพทย์จำนวนไม่น้อยแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้แต่ผู้ป่วย AF เสริมกรดไขมันโอเมกา 312 อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อมีข้อมูลออกมาว่าการเสริมกรดไขมันโอเมกา 3 ปริมาณสูงในผู้ป่วย AF อาจเป็นประโยชน์หรือโทษ13-15 เมื่อข้อมูลไม่สอดคล้องกันเช่นนี้ แพทย์ซึ่งเห็นว่ากรดไขมันโอเมกา 3 ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงแนะนำให้ผู้ป่วย AF บริโภคกรดไขมันโอเมกา 3 ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป16-17 และไม่แนะนำให้เสริมกรดไขมันโอเมกา 3 ในปริมาณสูงเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน จนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจน18

mar22-health4-08.png


เอกสารอ้างอิง
1 น้ำมันปลา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 422 ออกตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522. http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P422.pdf
2 Kris-Etherton PM, Harris WS, Appel LJ. Fish consumption, fish oil, omega-3 fatty acids, and cardiovascular disease. Circulation 2002 Nov 19;106(21):2747-57.

3 Davidson MH. Mechanisms for the hypotriglyceridemic effect of marine omega-3 fatty acids. Am J Cardiol. 2006 Aug 21;98(4A):27i-33i.
4 DiNicolantonio JJ, O'Keefe JH. The Importance of Marine Omega-3s for Brain Development and the Prevention and Treatment of Behavior, Mood, and Other Brain Disorders. Nutrients. 2020 Aug 4; 12(8): 2333.

5 Burdge GC, Calder PC. Conversion of alpha-linolenic acid to longer-chain polyunsaturated fatty acids in human adults. Reprod Nutr Dev. Sep-Oct 2005;45(5):581-97.
6 Qingying Meng et al. Systems Nutrigenomics Reveals Brain Gene Networks Linking Metabolic and Brain Disorders. EBioMedicine. 2016 May; 7:157-66.
7 Simopoulos AP, Leaf A, Salem N. Essentiality of and recommended dietary intakes for omega-6 and omega-3 fatty acids. Ann Nutr Metab. 1999;43(2):127-30.

8 Zargar A, Ito MK. Long chain omega-3 dietary supplements: a review of the National Library of Medicine Herbal Supplement Database. Metab Syndr Relat Disord. 2011 Aug;9(4):255-71.
9 สุรพันธ์ สิทธิสุข. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial fibrillation ในประเทศไทย.--กรุงเทพฯ : สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2555. http://www.thaiheart.org/images/column_1291454908/Thai_AF_Guideline

10 Bhatt DL, Steg PG, Miller M, et al & REDUCE-IT Investigators. Cardiovascular risk reduction with icosapent ethyl for hypertriglyceridemia. N Engl J Med. 2019;380(1):11-22.

11 Jia X, Gao F, Pickett JK , et al. Association Between Omega-3 Fatty Acid Treatment and Atrial Fibrillation in Cardiovascular Outcome Trials: A Systematic Review and Meta-Analysis. Cardiovasc Drugs Ther. 2021 Aug;35(4):793-800.

12 Colussi G, Catena C, Fagotto V, et al. Atrial fibrillation and its complications in arterial hypertension: The potential preventive role of ω-3 polyunsaturated fatty acids. Crit Rev Food Sci Nutr. 2019;59(12):1937-1948.

13 Khawaja O, Gaziano JM, Djoussé L. A meta-analysis of omega-3 fatty acids and incidence of atrial fibrillation. J Am Coll Nutr. 2012 Feb;31(1):4-13.

14 Guerra F, Shkoza M, Scappini L, et al. Omega-3 PUFAs and atrial fibrillation: have we made up our mind yet? Ann Noninvasive Electrocardiol. 2013 Jan;18(1):12-20.

15 Albert CM , Cook NR, Pester J , et al. Effect of Marine Omega-3 Fatty Acid and Vitamin D Supplementation on Incident Atrial Fibrillation: A Randomized Clinical Trial. JAMA. 2021 Mar 16;325(11):1061-1073.

16 Kumar S, Qu S , Kassotis JT. Effect of Omega-3 Polyunsaturated Fatty Acid Supplementation in Patients with Atrial Fibrillation. J Atr Fibrillation 2012 Aug 20;5(2):502.

17 Robinson VM, Kowey PR. Should Physicians Continue to Recommend Fish Oil for Patients with Atrial Fibrillation? J Atr Fibrillation 2012 Oct 6;5(3):593.

18 Gencer B, Djousse L, Al-Ramady OT, et al. Effect of Long-Term Marine ɷ-3 Fatty Acids Supplementation on the Risk of Atrial Fibrillation in Randomized Controlled Trials of Cardiovascular Outcomes: A Systematic Review and Meta-Analysis. Circulation. 2021 Dec 21;144(25):1981-1990.