06 MAR 2022 บทความผลิตภัณฑ์ 6 นาทีในการอ่าน 10503 VIEWS 43 แชร์

แฮปปี้ไมโครไบโอมกับสุขภาพผิว โดย พญ.ภัทรลดา ฤทธิวงศ์ | นิตยสารอะชีฟ ฉบับมีนาคม 2565

เคยสังเกตไหมคะว่า ทำไมแต่ละคน มีลักษณะของผิวที่แตกต่างกัน แม้แต่พี่น้องกัน ก็อาจจะมีผิวที่ต่างกัน บางคนผิวมัน บางคนผิวแพ้ง่าย สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผิวเราแข็งแรง แตกต่างกันนั้นก็คือ Skin Microbiome หรือ จุลินทรีย์บนผิวหนังเราค่ะ

ผิวหนังเป็นอวัยวะ ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญคือ ดูแลปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สารพิษ สารเคมี แสงแดด รังสี หรือการกระทบกระแทก รวมไปถึง การทำงานควบคุมอุณหภูมิ สร้างสารคัดหลั่ง เหงื่อ ผิวหนังมีปลายประสาทรับสัมผัสต่างๆ ร้อนหนาว เจ็บปวด และเป็นส่วนหนึ่งของการสังเคราะห์วิตามินที่สำคัญ คือวิตามินดี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่อการทำงานระบบต่างๆของร่างกาย

ผิวหนังเรานั้นสำคัญขนาดนี้ ธรรมชาติจึงมอบความพิเศษสุดๆ ให้เราโดยมีเจ้าจุลินทรีย์ประจำถิ่นหรือ Skin microbiome ให้มาสร้างระบบนิเวศอยู่กัน ซึ่งจะมีชนิดและปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ สภาพผิว ความชื้น ค่า PH หรือ ตำแหน่งของผิวหนังในร่างกาย หากว่าเมื่อใดที่เราเสียสมดุลของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ไปนั้น ก็จะส่งผลให้ผิวอ่อนแอลงและเกิดปัญหาต่างๆตามมาค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ผิวแห้ง ผิวมัน สิว ผื่นแดง คัน เป็นต้น

โดยจุลินทรีย์ที่กล่าวมานี้ ไม่เพียงแต่จะมีตามผิวหนังเรานะคะ ยังพบว่ามีอยู่ทั่วๆไปตามอวัยวะต่างๆในร่างกายค่ะ ซึ่งจะทำหน้าที่แตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่อยู่ ตั้งแต่ผิวหนัง เหงือกและฟัน หลอดอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งจุลินทรีย์ที่อาศัยตามผิวเรา มีทั้งอยู่ชั่วคราว ถาวร กึ่งถาวร

แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อความหลากหลายและปริมาณ ของจุลินทรีย์ในผิวหนัง?

จุลินทรีย์ที่ผิวหนังนั้น มีทั้ง แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ทำให้แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ผิวหนังของเรานั้นมีหลายชั้น ตัวจุลินทรีย์ส่วนใหญ่จะอยู่ผิวชั้นนอกสุด หรือ Epidermis และมีชนิด/ปริมาณที่ต่างจาก จุลินทรีย์ที่อยู่ชั้นถัดลงมาคือชั้น Dermis โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องมักจะส่งผลต่อจุลินทรีย์ที่อยู่ชั้นนอกสุดมากกว่า หมอจะขอแบ่งออกเป็น 3 อย่างย่อยๆ ให้เข้าใจง่ายนะคะ

ปัจจัยภายใน ได้แก่ อายุ เพศ พันธุกรรม ตำแหน่งของร่างกายที่มีต่อมไขมันที่ต่างกันก็จะทำให้ชนิดของจุลินทรีย์ต่างกัน ปริมาณก็ต่างกัน ซึ่งจะเห็นว่า ปัจจัยภายในนั้น เราจะเปลี่ยนแปลงได้น้อยมาก แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอกอื่นๆ เพื่อควบคุมปัจจัยภายในได้ค่ะ

ปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมได้ ได้แก่ กิจวัตรประจำวัน (Lifestyle), โรคประจำตัวที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงโดยLifestyleได้ เช่นระดับน้ำตาลในเลือด, การจัดการความเครียด, สภาพแวดล้อมรอบตัวเช่น ความแห้ง ความชุ่มชื้นของอากาศ ค่าความเป็นกรดด่างของร่างกาย สารเคมีที่สัมผัสผิวหนัง, การรับประทานยาปฏิชีวนะ, การส่งต่อหรือถ่ายทอดจุลินทรีย์ที่เราได้รับมาตั้งแต่เด็ก ก็คือ การคลอดโดยธรรมชาติ ก็จะได้จุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง การผ่าตัดคลอดก็จะได้จุลินทรีย์ที่แตกต่างกัน, การรับประทานอาหารหรืออาหารเสริม, การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น

ปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมได้ยากมาก ได้แก่ สภาพภูมิอากาศที่เราอาศัยอยู่, สารพิษ PM2.5 รอบกายเรา ดังนั้นในคนที่ผิวสุขภาพดี ควรจะมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิด และปริมาณที่ไม่มากเกินไปค่ะ

หน้าที่ของจุลินทรีย์บนผิวเราคืออะไร ?

เจ้าจุลินทรีย์ตัวจิ๋วบนผิวเรานั้น ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันให้กับผิวเราค่ะ โดยสร้างสารต่างๆบนผิวเรา เช่น สร้างสารที่เป็นกรดเพื่อให้ผิวของเราเป็นกรดอ่อนๆ ทำให้ลดเชื้อตัวก่อโรคผิวหนังบางชนิดได้, ทำให้ผิวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่อยู่ถาวรจะจดจำเชื้อโรคสิ่งแปลกปลอมเอาไว้ เพื่อตอบสนองต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ที่ผิวหนังเกิดขึ้น มักจะสัมพันธ์กับสาเหตุของโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง สิว สะเก็ดเงิน เป็นต้น จุลินทรีย์บางชนิดสามารถทำลายแบคทีเรียอื่นๆที่ไม่เป็นมิตรกับผิวเรา ทำให้เกิดความสมดุลของจุลินทรีย์ในผิวหนังได้ ที่สำคัญกว่านั้นคือ จุลินทรีย์ที่สมดุลนั้น ยังช่วยป้องกันรังสียูวีได้ มีการทดลองในหนูทดลองพบว่า หนูที่มีแบคทีเรียชื่อ Staphylococcus epidemidis ซึ่งจะสร้างสารฟิล์มเคลือบผิวที่ยากต่อการล้างชำระและป้องกันการซึมผ่านของสารเคมี เมื่อไปเทียบกับหนูที่ไม่มีจุลินทรีย์ชนิดนี้ จะได้รับรังสียูวีน้อยกว่า หรือเชื้อแบคทีเรียที่เราคงได้ยินชื่อบ่อยๆ คือ Staphylococcus aureus ซึ่งจัดว่าเป็นจุลินทรีย์กึ่งถาวรโดยให้ทั้งประโยชน์และโทษต่อผิวหนังได้เลยค่ะ เช่นถ้าปริมาณจุลินทรีย์กลุ่มอื่นๆลดลง เจ้าเชื้อ Staphylococcus aureus มีมากไปก็จะสร้างสารพิษกระตุ้นให้แผลติดเชื้อและหายช้าทำลายเยี่อบุผิวให้เสื่อมสภาพได้

ความสัมพันธ์ของจุลินทรีย์บนผิวหนังกับตัวเรา

หน้าที่สำคัญของจุลินทรีย์บนผิวเรา (Skin Microbiome) นอกจากจะช่วยเรื่องการเปล่งประกายความงามของผิวและบ่งชี้ถึงความมีสมดุลสุขภาพดีจากภายในแล้ว ยังทำหน้าที่สื่อสารควบคุมการทำงานของระบบอื่นๆของร่างกายเราด้วย โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันค่ะ เพราะผิวหนังคือด่านแรกที่ปกป้องร่างกายเรา ปัจจุบันมีการศึกษาชนิดและจำนวนของจุลินทรีย์โดยใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ลำดับคู่เบสจากสารพันธุกรรม ทำให้ทราบชนิดและจำนวน จนเข้าใจบทบาทของจุลินทรีย์ต่อผิวหนังได้มากขึ้น

นอกจากนี้ หลายๆคนคงเคยได้ยินว่า หากเราหยุดทานอาหารบางอย่าง เช่น ช็อกโกแลต หรืออาหารที่ทำให้เราเกิดภาวะลำไส้รั่วซึม มักสัมพันธ์กับผิวพรรณที่สดใสขึ้น เช่นสิวลดลง ความมันบนใบหน้าลดลง ความสัมพันธ์นี้ เรียกว่า Gut-skin axis คือจุลินทรีย์ในลำไส้นั้นก็ส่งผลต่อสมดุลจุลินทรีย์ที่ผิวเช่นกัน

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือจุลินทรีย์ P.Acne ที่เราคุ้นเคยกันว่าทำให้เกิดสิวนั้น กลับพบว่า คนที่เป็นสิวกับคนที่ไม่เป็นสิว มีจุลินทรีย์ตัวนี้ในปริมาณที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก หากแต่สิ่งที่ต่างกัน กลับเป็น สายพันธุ์ต่างหาก

นอกจากจุลินทรีย์จะส่งผลต่อเราโดยตรงแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับการสร้างสมดุลด้วย เพราะอย่างที่บอกว่า อาจจะไปเพิ่มหรือยับยั้งจุลินทรีย์กลุ่มอื่นได้

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกับไมโครไบโอม

ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยและมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น โดยการศึกษาหนึ่งพบว่า การใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีผลโดยตรงต่อสมดุลจุลินทรีย์ที่ผิวของเรา แม้ว่าจะทำความสะอาดผิวหนังแล้วก็ตาม ทั้งเช็ด ล้าง ขัด ถู ต่างก็ส่งผลต่อสมดุลจุลินทรีย์ โดยสรุปของการศึกษานี้คือ

  1. ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นจะอยู่บนผิวเราเป็นสัปดาห์แม้ว่าจะทำความสะอาดออกไปแล้วก็ตาม
  2. องค์ประกอบของเครื่องสำอางนั้น ส่งผลต่อ ความหลากหลายของชนิดจุลินทรีย์ โดยอาจจะส่งเสริมหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ เช่นถ้าเราใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มเพิ่มความชุ่มชื้นก็อาจจะไปเพิ่มกลุ่มแบคทีเรียที่ชอบไขมันได้
  3. จุลินทรีย์บนผิวนั้นที่จะเปลี่ยนแปลง จะขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ตำแหน่งการใช้ โดยเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ใช้เลย ดังนั้น การรักษาสมดุลของจุลินทรีย์บนผิว จึงเป็นแนวทางในการดูแลผิวพรรณที่ยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง