16 MAY 2024 บทความผลิตภัณฑ์ 4 นาทีในการอ่าน 343 VIEWS

ดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันไม่ให้เป็นฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดในหน้าร้อน

ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ภัยเงียบช่วงหน้าร้อนที่ไม่ควรมองข้าม! รวมข้อมูลต้องรู้เกี่ยวกับฮีทสโตรก อาการ สาเหตุ รวมถึงวิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันฮีทสโตรกได้อย่างไร?

ฮีทสโตรกคืออะไร?

โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก คือโรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงที่อากาศร้อนจัดหรืออากาศชื้น เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยส่วนมากฮีทสโตรกจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่อยู่กลางแดดเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือออกกำลังกาย ซึ่งฮีทสโตรกจะส่งผลอันตรายต่ออวัยวะภายในได้ เช่น หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อ เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาทันทีหรือรักษาไม่ถูกวิธีอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ไปจนถึงเสียชีวิตในที่สุด1

สาเหตุที่ทำให้เกิดฮีทสโตรก

โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น

  • สภาพแวดล้อมที่อากาศร้อนชื้น
  • การออกกำลังกายหรือการทำงาน ใช้แรงงาน ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด
  • การดื่มน้ำน้อย 
  • การสวมเสื้อผ้าหนา ไม่ระบายความร้อน
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฮีทสโตรก

นอกจากสาเหตุต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการที่ทำให้มีโอกาสเกิดฮีทสโตรกได้ ดังนี้2 

  • อุณหภูมิสูง เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเกิดฮีทสโตรก โดยเฉพาะในกรณีที่อุณหภูมิสูงขึ้นกะทันหัน ซึ่งร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน เช่น ในช่วงหน้าร้อนที่มีคลื่นความร้อนสูงอย่างรวดเร็ว หรือ การเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีอุณหภูมิร้อนจัด เป็นต้น 
  • อายุ ในกลุ่มของเด็กและผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรกได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น เพราะในเด็กนั้น ระบบประสาทส่วนกลางยังพัฒนาไม่เต็มที่ ในขณะที่ผู้สูงอายุ ระบบประสาทส่วนกลางเริ่มเสื่อม ทำให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ
  • การกินยาบางชนิด ยาบางชนิดส่งผลต่อการรักษาความชุ่มชื้นและการตอบสนองต่อความร้อนของร่างกาย เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาขับปัสสาวะ ยาทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็น ยาต้านอาการซึมเศร้า ยากระตุ้นจิต เป็นต้น 
  • โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับปอด และโรคอ้วน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรก

ประเภทของฮีทสโตรก

ฮีทสโตรก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. ฮีทสโตรกที่ไม่ได้มาจากการใช้กำลังกาย

ฮีทสโตรกประเภทนี้เกิดขึ้นได้ แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้ใช้กำลังกายหนัก แต่เกิดจากการอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงหรือชื้นมากเป็นเวลานาน ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายสูงไปด้วย จนเกิดภาวะฮีทสโตรกได้

2. ฮีทสโตรกที่มาจากการใช้กำลังกาย

ในกรณีผู้ที่ใช้กำลังกาย หรือทำงานอยู่กลางแจ้งในสภาพอากาศร้อนมากๆ เป็นเวลานาน ก็มีโอกาสเกิดภาวะฮีทสโตรกได้ เนื่องจากอากาศและการเคลื่อนไหว ส่งผลให้อุณหภูมิแกนกลางของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

อาการของฮีทสโตรก

อาการของฮีทสโตรก

เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน สามารถสังเกตอาการของฮีทสโตรกได้ ดังนี้1,2 

  • อุณหภูมิภายในร่างกายสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ผิวแห้งและร้อน ไม่มีเหงื่อออก 
  • รู้สึกกระหายน้ำมาก
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ผิวหนังแดงขึ้น
  • หายใจหอบถี่ หัวใจเต้นเร็ว
  • ปวดศีรษะ หน้ามืด ความดันต่ำ
  • พฤติกรรมผิดปกติ เช่น สับสนเฉียบพลัน หงุดหงิด กระสับกระส่าย เพ้อ ชัก หรือโคม่า

การวินิจฉัยอาการฮีทสโตรก 1

ผู้ป่วยโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก มักจะมีอาการที่สามารถเห็นได้ชัดเจน โดยในการวินิจฉัยโดยทั่วไป แพทย์จะซักประวัติเพื่อหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นการเกิดฮีทสโตรก นอกจากนั้นเพื่อตรวจสอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน แพทย์จะตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • การวัดอุณหภูมิร่างกายทางทวารหนัก เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกายได้อย่างแม่นยำ
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินความเสียหายของไตและกล้ามเนื้อ
  • การตรวจกล้ามเนื้อ เพื่อประเมินภาวะการสลายของกล้ามเนื้อ
  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจสอบระดับก๊าซและระดับเกลือแร่ในเลือด รวมไปถึงตรวจค่าตับ ไต และวัดการแข็งตัวของเลือดด้วย
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายสมอง ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นอาการที่เกิดจากภาวะอื่นๆ ของสมอง

วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นฮีทสโตรก

วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นฮีทสโตรก

วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นฮีทสโตรกในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด สามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • เลือกสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อบาง ไม่รัดรูป สามารถระบายความร้อนได้ดี
  • เมื่อต้องออกแดด ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันผิวและร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นหมวก แว่นกันแดด รวมทั้งทาครีมกันแดดด้วย
  • งดออกกำลังกายกลางแจ้ง และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกลางแจ้ง
  • ในกรณีที่ต้องกินยาที่มีผลต่อการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยา
  • การจิบน้ำบ่อยๆ เพราะน้ำจะเป็นตัวช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้เป็นปกติ

การจะมีน้ำสะอาดดื่มได้ทุกวันในช่วงหน้าร้อน เพื่อป้องกันฮีทสโตรก ควรเลือกเครื่องกรองน้ำที่ได้คุณภาพ อย่าง eSpring ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของเครื่องกรองน้ำสะอาด กรองสารปนเปื้อนและไมโครพลาสติกในน้ำได้  พร้อมหลอด UV-C LED โดย eSpring เป็นเครื่องกรองน้ำรายแรกที่ได้รับการรับรองจาก NSF ในเรื่องประสิทธิภาพการกำจัดสิ่งปนเปื้อนในน้ำ โดยเฉพาะการกำจัดแบคทีเรียได้ถึง 99.99% กำจัดไวรัส 99.99% และกำจัดจุลินทรีย์ 99.9% เพื่อการดื่มน้ำในทุกวันที่สะอาด ปลอดภัย ไร้สารปนเปื้อน

การรักษาฮีทสโตรกด้วยตนเอง1

ในกรณีที่เป็นฮีทสโตรกระดับไม่รุนแรง สามารถปฐมพยาบาลหรือรักษาตัวเองได้ในเบื้องต้น ดังนี้

  • ถอดเสื้อผ้าส่วนเกินหรือส่วนที่รัดรูปออก
  • การแช่น้ำเย็น เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย
  • การระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยการพ่นละอองน้ำเย็นลงบนร่างกายและเป่าลมให้แห้งเพื่อให้ผิวเย็นลง
  • ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากฮีทสโตรก

ฮีทสโตรกอันตรายกว่าที่คิด เพราะหากรักษาไม่ทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดความเสียหายต่ออวัยวะภายในได้ ได้แก่

  • กล้ามเนื้อ ภาวะการสลายของกล้ามเนื้อโครงร่าง
  • ระบบการแข็งตัวของเลือด ภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • หัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเพราะทำงานหนักเกินไป
  • ปอด ภาวะความผิดปกติทางปอดร้ายแรง ทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ
  • ไต การสลายตัวของกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อการบาดเจ็บของไตเฉียบพลัน
  • ตับ การขาดน้ำและเลือดไปเลี้ยงตับ ทำให้ตับเกิดความผิดปกติเฉียบพลัน

สรุป

โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก เป็นภาวะที่มักจะเกิดขึ้นกับร่างกายในช่วงหน้าร้อน สภาพอากาศที่ร้อนจัดจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เกิดจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม อากาศร้อนจัด และสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมในการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิ โดยอาการของฮีทสโตรกสามารถสังเกตได้ เช่น ปวดหัวรุนแรง ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ผิวแดงและร้อน หากอาการรุนแรงขึ้น จะส่งผลต่อการทำลายอวัยวะภายในทั้งตับ ไต หัวใจ กล้ามเนื้อ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด ทุกคนจึงต้องป้องกันตนเองโดยการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งนานๆ และหมั่นดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำนั่นเอง

Reference 

  1. พญ. รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด. โรคฮีทสโตรก (โรคลมแดด). medparkhospital.com. Published 5 April 2023. Retrieved 18 April 2024.

  2. Bangkok hospital. โรคฮีทสโตรก…อันตรายถึงชีวิต !. bangkokpattayahospital.com. Retrieved 18 April 2024.