การมีกลิ่นปาก ลมหายใจเหม็น เป็นสัญญาณว่าสุขภาพปากกำลังมีปัญหา แก้ไขได้ด้วยยาสีฟันลดกลิ่นปาก หรือดูแลสุขภาพช่องปากด้วยไหมขัดฟัน และน้ำยาบ้วนปาก โดยลักษณะของกลิ่นปากแรง ลมหายใจเหม็น มีสาเหตุมาจากก๊าซกำมะถันที่มีกลิ่นเหม็นจากช่องปาก จมูก หรือคอ ซึ่งวิธีการเช็กกลิ่นปากของตัวเอง สามารถใช้มือป้องปากไว้ จากนั้นหายใจออกทางปาก และสูดลมหายใจเข้าทางจมูกเพื่อทดสอบดูว่ามีกลิ่นเหม็นหรือไม่ หรือสามารถเช็กกลิ่นปากจากน้ำลายได้ โดยการเลียข้อมือ หรือบ้วนน้ำลายออกมาแล้วดมกลิ่น ซึ่งปกติน้ำลายนั้นเป็นสารคัดหลั่งที่ไม่มีกลิ่น แต่หากดมน้ำลายดูแล้วพบว่ามีกลิ่นแรง แสดงว่าน้ำลายอาจมีการปนเปื้อนของสิ่งสกปรก หรือเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้
นอกจากนี้ กลิ่นปากยังส่งผลทำให้มีบุคลิกภาพที่ไม่ดี เพราะกลิ่นปากแรงย่อมทำให้สูญเสียความมั่นใจ อาจเกิดความเครียด ไม่กล้าพูดคุยกับใคร จนส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิด รวมไปถึงหน้าที่การงานอีกด้วย บทความนี้จะพาไปดูสาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก และวิธีรักษากลิ่นปากอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ปากหอมสดชื่น คืนความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง
กลิ่นปากไม่ใช่แค่เรื่องของความสะอาดในช่องปาก แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปากแรงได้ ดังนี้
สาเหตุสำคัญของการมีกลิ่นปากแรงและลมหายใจเหม็น คือ การดูแลความสะอาดในช่องปากได้ไม่ดีพอ อย่างการแปรงฟันไม่สะอาด หลงเหลือคราบอาหาร และคราบพลัค (Dental plaque) เอาไว้ จนเกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียตามซอกฟัน เมื่อรวมกับเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในช่องปากแล้ว จึงเกิดเป็นก๊าซเหม็นที่ส่งผลให้เกิดปัญหาปากเหม็นได้ นอกจากนี้ การแปรงฟันที่ไม่สะอาดยังอาจทำให้เกิดฟันผุ ซึ่งตอกย้ำปัญหากลิ่นปากให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น จากการที่เศษอาหารเข้าไปอุดตามรูฟันผุ จนเกิดเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมา
หากไปพบทันตแพทย์จนมั่นใจแล้วว่าสุขภาพในช่องปากไม่มีปัญหา หรือดูแลความสะอาดเหงือกและฟันเป็นอย่างดีแล้ว แต่ยังคงมีกลิ่นปากแรงอยู่ อาจเกิดขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น โรคที่เกี่ยวกับช่องปาก จมูก ลำคอ การติดเชื้อ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้จะทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียที่เกิดจากจุลินทรีย์ที่ไม่สมดุล มีการอักเสบจนเกิดหนองที่มีกลิ่น เป็นสาเหตุที่ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบการทำงานของร่างกายต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ หรือโรคระบบทางเดินอาหาร ที่สามารถสร้างกลิ่นเฉพาะของแต่ละโรคออกมาพร้อมกับลมหายใจได้เช่นกัน1
นอกจากการรักษาโรคต่างๆ กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว การใช้ยาสีฟันแพลนท์เบสเพื่อสร้างสมดุลไมโครโอมในช่องปากก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะความสมดุลของไมโครไบโอม คือ สัดส่วนของจุลินทรีย์ดีและไม่ดีที่อยู่ร่วมกันเป็นระบบนิเวศ โดยจุลินทรีย์ดีต้องมีมากกว่าจุลินทรีย์ไม่ดีประมาณหนึ่ง (สัดส่วนแตกต่างกันในแต่ละจุดของร่างกาย) เพื่อจำกัดจำนวนจุลินทรีย์ทั้งดีและไม่ดีให้อยู่ในปริมาณที่สมดุลกับอวัยวะ หรือส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างเหมาะสม
เคยสังเกตหรือไม่ว่าเวลากินอาหารที่มีกลิ่นแรงเข้าไป ร่างกายจะมีกลิ่นแบบเดียวกันกับอาหารที่กิน เนื่องจากสารอาหารจะถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นแบบเดียวกัน แต่เมื่อถูกย่อยและขับถ่ายออกจนหมดแล้ว กลิ่นจึงจะหายไป ดังนั้นการกินอาหารที่มีกลิ่นแรงเป็นประจำ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปากมีกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะอาหารที่ประกอบด้วย กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ สะตอ ทุเรียน ฯลฯ รวมไปถึงเครื่องดื่มอย่างชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนทำให้เกิดกลิ่นปากได้ทั้งสิ้น
บุหรี่เป็นอันตรายต่อช่องปากและฟัน ทำให้เกิดโรคปริทันต์ หรือโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งจะส่งผลให้อวัยวะรอบรากฟันถูกทำลาย เหงือกอ้ากว้างมากขึ้น ทำให้มีเศษอาหารเข้าไปสะสมได้ง่ายขึ้น เกิดเป็นหินปูน ฟันเหลือง มีคราบสีน้ำตาลเกาะที่ผิวฟัน พร้อมกับการมีกลิ่นปากแรง2 นอกจากนี้ สารเคมีในบุหรี่ที่เกิดจากการเผาไหม้ เมื่อไปรวมกับกลิ่นอื่นๆ ภายในช่องปาก ก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาปากเหม็นมากขึ้นอีกด้วย1
หากการทำงานของต่อมน้ำลายผิดปกติ จะทำให้น้ำลายถูกผลิตออกมาน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ปากแห้ง และทำให้การขจัดเศษอาหารภายในปากมีประสิทธิภาพลดลง เกิดเป็นการสะสมของแบคทีเรีย และเศษอาหารจนมีกลิ่นเหม็นตามมา รวมถึงเวลาตื่นนอนหลายคนมักมีกลิ่นปากแรง เพราะในช่วงกลางคืนเวลานอนหลับ การไหลเวียนของน้ำลายสามารถทำได้น้อยลง บวกกับการสะสมของแบคทีเรียภายในช่องปาก ทำให้เกิดเป็นปัญหากลิ่นปากตามมานั่นเอง
เมื่อทราบถึงสาเหตุของการเกิดกลิ่นปากแล้ว มาดู 11 วิธีรักษาปัญหากลิ่นปากแรง ให้ปากหอมสดชื่น ระงับกลิ่นเหม็นกวนใจกันดีกว่า
หนึ่งในปัจจัยของการมีกลิ่นปากมาจากการสะสมของเศษอาหารในซอกฟัน จนเกิดการเน่าบูดและส่งกลิ่นเหม็นขึ้นมา ดังนั้น การแปรงฟันทุกครั้งหลังกินอาหาร เพื่อขจัดคราบเศษอาหาร และคราบจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่ จึงเป็นวิธีที่แนะนำให้ทุกคนทำอย่างสม่ำเสมอ โดยการแปรงฟันที่ดี ควรแปรงให้ทั่วถึงฟันทุกซี่ และทุกส่วน ทั้งด้านใน ด้านนอก และบริเวณโคนฟัน รวมไปถึงแปรงตามซอกเหงือก และกระพุ้งแก้ม
นอกจากนี้ ควรเลือกแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และหัวแปรงเล็ก จะช่วยให้สามารถเข้าถึงซอกฟันได้มากขึ้น และที่สำคัญคือควรแปรงฟันให้ได้อย่างน้อย 2 นาที ไม่ควรรีบร้อนขณะแปรงฟัน เพราะจะทำให้แปรงได้ไม่ทั่วถึง และการแปรงเร็วเกินไปอาจเป็นการทำลายสุขภาพช่องปากโดยไม่รู้ตัว1 อย่างไรก็ตาม การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการดูแลสุขภาพช่องปากให้ครบ 3 ขั้นตอน ได้แก่ แปรงฟัน ขัดฟัน และบ้วนปาก เพื่อให้สุขภาพช่องปากและฟันแข็งแรง ห่างไกลจากปัญหากลิ่นปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมุนไพรหลายชนิดสามารถช่วยระงับกลิ่นปากแรง และยังช่วยให้ปากหอมสดชื่นได้ เพราะสมุนไพรมีสรรพคุณช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปาก และช่วยสร้างลมหายใจที่หอมสดชื่นได้ ดังนั้น ใครที่กำลังมีปัญหากลิ่นปาก แนะนำยาสีฟันลดกลิ่นปากที่เป็นแพลนท์เบส เพื่อช่วยสร้างสมดุลไมโครไบโอมที่เป็นจุลินทรีย์ดีในช่องปาก ซึ่งจะช่วยลดระดับความรุนแรงของกลิ่นปากได้ โดยยาสีฟันลดกลิ่นปากควรประกอบด้วยสมุนไพรต่างๆ ดังนี้
นอกจากเลือกยาสีฟันที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรแล้ว ควรเลือกยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพราะสามารถช่วยป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยขจัดคราบเศษอาหารและแบคทีเรียให้หมดไป จึงช่วยลดปัญหากลิ่นปากให้ดีขึ้นได้
นอกจากการแปรงฟันและใช้น้ำยาบ้วนปากแล้ว ควรใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำในการทำความสะอาดช่องปากด้วย เพราะเศษอาหารที่ติดแน่นอยู่ตามซอกฟันมักเป็นจุดที่แปรงสีฟันไม่สามารถซอกซอนเข้าถึงได้ อีกทั้งน้ำยาบ้วนปากก็ไม่สามารถขจัดคราบเศษอาหารที่ติดแน่นตามซอกฟันได้ ดังนั้น การใช้ไหมขัดฟัน ควบคู่ไปกับการแปรงฟัน และใช้น้ำยาบ้วนปากร่วมด้วย ถือเป็นการดูแลช่องปากที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสามารถกำจัดคราบเศษอาหาร ลดแบคทีเรีย สร้างช่องปากที่สะอาด และลดปัญหากลิ่นปากได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าการแปรงฟันที่ดีจะช่วยกำจัดเศษอาหารออกได้เกือบทั้งหมด แต่การแปรงฟันอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะยังมีส่วนที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง และทำให้เกิดการสะสมของคราบเศษอาหารได้ โดยวิธีที่จะขจัดเศษอาหารที่อยู่ในซอกลึกได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย คือ การใช้น้ำยาบ้วนปากทุกครั้งหลังกินอาหาร โดยน้ำยาบ้วนปากจะช่วยซอกซอนไปยังส่วนที่แปรงสีฟันไม่สามารถเข้าถึงได้ และช่วยขจัดคราบเศษอาหาร และแบคทีเรียให้หลุดออกจากฟัน หากต้องการใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อลดกลิ่นปาก แนะนำให้เลือกใช้แบบที่มีส่วนผสมจากพืชธรรมชาติ ซึ่งจะสร้างสมดุลจุลินทรีย์ที่ดีในช่องปาก ช่วยขจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยให้ลมหายใจหอมสดชื่นด้วยกลิ่นจากพืชธรรมชาติอีกด้วย
เนื่องจากลิ้นมีผิวขรุขระ ไม่เรียบเนียน จึงเป็นแหล่งสะสมคราบอาหาร และแบคทีเรียต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณโคนลิ้นที่หลายๆ คนมองข้าม มักมีแบคทีเรียสะสมอยู่มากจนเกิดปัญหากลิ่นปากตามมา ดังนั้น ทุกครั้งของการแปรงฟัน ควรแปรงให้ถึงโคนลิ้น หรือใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดลิ้นขูดฝ้าบนลิ้นออก โดยขูดจากโคนลิ้นมายังปลายลิ้น จะเป็นการกำจัดคราบอาหาร และแบคทีเรียที่อยู่บนลิ้นได้เป็นอย่างดี
แปรงสีฟันที่ใช้ติดต่อกันยาวนานหลายเดือน จะเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียมากมาย หากยังใช้แปรงเก่าอันเดิมแปรงฟันต่อไปเรื่อยๆ แบคทีเรียที่อยู่ในแปรงก็จะยิ่งกระจายในช่องปากได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แปรงสีฟันที่ใช้มานานจะมีรูปทรงของขนแปรงที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้ประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟันลดน้อยลงไปด้วย ช่องปากจึงไม่สะอาดพอ และเกิดปัญหากลิ่นปากตามมา ดังนั้น ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุกๆ 3-4 เดือน เพื่อให้ไม่ให้มีการสะสมของแบคทีเรีย และเพื่อการดูแลความสะอาดของช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพ
การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจก่อให้เกิดโรคปริทันต์ หรือโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งส่งผลให้คราบเศษอาหารและแบคทีเรียสะสมได้ง่ายขึ้น เกิดเป็นปัญหากลิ่นปากแรง รวมไปถึงสารเคมีในบุหรี่ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เมื่อรวมกับกลิ่นอื่นๆ ในช่องปากแล้ว ยิ่งทำให้กลิ่นปากแรงยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนแอลกอฮอล์มีผลทำให้ปากแห้ง และนำไปสู่การเกิดกลิ่นปากแรงและลมหายใจเหม็นได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพช่องปากต้องถูกทำลาย และยังทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นอีกด้วย1
การดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ จะช่วยล้างแบคทีเรียและเศษอาหารในช่องปากที่อาจก่อให้เกิดกลิ่นปากแรงได้ นอกจากนี้ การดิ่มน้ำเปล่ายังช่วยหล่อเลี้ยงไม่ให้ปากแห้ง จึงช่วยลดความเข้มข้นของแบคทีเรียในช่องปากและลดกลิ่นปากลงได้ ดังนั้น หากไม่สามารถแปรงฟันหลังกินอาหารทุกครั้ง ก็สามารถดื่มน้ำเปล่ามากๆ เพื่อช่วยลดกลิ่นปากในระดับหนึ่งได้
เวลากินอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม เครื่องเทศ ทุเรียน ฯลฯ ร่างกายจะดูดซึมอาหารเข้าสู่กระแสเลือดผ่านไปยังปอด เกิดเป็นลมหายใจที่มีกลิ่นแรงได้2 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นปากและลมหายใจเหม็น ควรกินอาหารที่มีกลิ่นแรงในปริมาณที่พอเหมาะ หรือทำความสะอาดช่องปากอย่างการแปรงฟัน หรือใช้น้ำยาบ้วนปากหลังการกินอาหารที่มีกลิ่นแรง ก็จะช่วยลดกลิ่นปากได้เช่นกัน
การกินอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยสามารถช่วยลดกลิ่นปากได้ เนื่องจากน้ำตาลเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเชื้อแบคทีเรีย หากกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง ก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มแหล่งอาหารแก่แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากได้มากขึ้น และยังเกิดการสร้างกรดอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุอีกด้วย ผู้ที่มีกลิ่นปากแรงจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง และหันมากินอาหารที่มีน้ำตาลน้อย รวมไปถึงกินผักและผลไม้ที่มีส่วนช่วยในการลดกลิ่นปากได้ เช่น ผักชีฝรั่ง ใบสะระแหน่ กล้วย มังคุด ทับทิม เป็นต้น1
ควรรับการตรวจสุขภาพช่องปาก และฟันจากทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี เพื่อดูแลและรักษาปัญหาช่องปากได้ทันท่วงที เช่น ทำการขูดหินปูน และคราบอาหาร ทำการอุด หรือถอนฟันเมื่อพบฟันผุ ขัดทำความสะอาดช่องปาก หรือทำการผ่าตัดฟันเมื่อพบฟันซ้อนเกจนทำความสะอาดลำบาก เป็นต้น การรักษาเหล่านี้จะทำให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี และช่วยลดปัญหากลิ่นปากแรงได้ นอกจากนี้ หากตรวจพบโรคที่เกี่ยวกับเหงือกและฟันได้เร็วมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสรักษาจนหายขาดได้มากเท่านั้น
ปัญหามีกลิ่นปากแรง ลมหายใจเหม็นสามารถแก้ไขและบรรเทาอาการได้ โดยใช้วิธีดูแลช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ อย่างการแปรงฟันและใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากอย่างทั่วถึงทุกครั้งหลังกินอาหาร เลือกใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากลดกลิ่นปากที่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหาร โดยเน้นทานอาหารที่มีน้ำตาลน้อย ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีกลิ่นแรง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ และที่สำคัญคือหมั่นตรวจสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี เพียงเท่านี้ปัญหากลิ่นปากแรงก็ไม่เป็นปัญหากวนใจอีกต่อไป
Reference
เมดไทย. 29 วิธีดับกลิ่นปาก มีกลิ่นปากเหม็นทําไงดี. medthai.com. Published 11 July 2022. Retrieved 19 January 2024.
พบแพทย์. สาเหตุของกลิ่นปาก และวิธีดูแลช่องปากให้สะอาด ปากไม่เหม็น. pobpad.com. (No Date). Retrieved 19 January 2024.
จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต. ที่มาของการมีกลิ่นปาก ปากเหม็น อาจเกิดจากโรค. ch9airport.com. (No Date). Retrieved 19 January 2024.
สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย. จะหยุดสูบ…หรือสูบต่อ คำตอบอยู่ที่ตัวคุณ. anamai.moph.go.th. Published 31 May 2020. Retrieved 19 January 2024.