โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
ข้อกำหนดทั่วไปทางโภชนาการ แนะนำให้บริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 35 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน โดยเป็นพลังงานจากกรดไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 10 ภายหลังพบว่า กรดไขมันอิ่มตัวเมื่อมีความยาวห่วงโซ่คาร์บอนในโมเลกุลไม่เท่ากัน แสดงคุณสมบัติทางเมแทบอลิซึมในร่างกายแตกต่างกัน โดยกรดไขมันความยาวคาร์บอน 8 - 12 นับเป็นกรดไขมันความยาวขนาดกลาง (Medium-chain fatty acids) ถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ด้วยกลไกที่แตกต่างจากไขมันทั่วไปโดยคล้ายคลึงคาร์โบไฮเดรต การแนะนำทางโภชนาการว่าด้วยการบริโภคไขมันจึงแยกไตรกลีเซอไรด์ที่มีกรดไขมันความยาว ขนาดกลางซึ่งเรียกว่า ไตรกลีเซอไรด์ความยาวขนาดกลาง (Medium-chain triglycerides หรือ MCT) ออกจากไขมันกลุ่มอื่น ด้วยเหตุนี้เอง น้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นแหล่งที่ดีของเอ็มซีที จึงได้รับความสนใจจากนักโภชนาการเป็นพิเศษ
กรณีน้ำมันมะพร้าวใช่ว่าทุกชนิดคือแหล่งของเอ็มซีที ในกระบวนการสกัดน้ำมันมะพร้าวที่นิยมในอดีต ใช้การเจียวกะทิโดยใช้ความร้อนเป็นผล ให้สูญเสียกรดไขมันความยาวขนาดกลางปริมาณมาก น้ำมันมะพร้าวสกัดร้อนจึงไม่นับเป็นแหล่งของเอ็มซีที การสกัดน้ำมันมะพร้าวเพื่อให้คงคุณสมบัติของการเป็นแหล่งเอ็มซีทีจำเป็นต้องใช้วิธีการสกัดเย็น ดังเช่น การใช้อุณหภูมิ -5 เซลเซียส ตามด้วยการแยกไขมันอิ่มตัวออกด้วยเทคนิคเซ็นตริฟิวจ์ ผลที่ได้คือน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่มีองค์ประกอบของกรดไขมันดังนี้ กรดคาโปรอิก (C6:0) <1.2% กรดคาปริลิก (C8:0) 3.4 - 15% กรดคาปริก (C10:0) 3.2 - 15% กรดลอริค (C12:0) 41 - 56% กรดไขมันทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของเอ็มซีทีมีสัดส่วน รวมกันสูงถึง 47.6 - 86% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง C8 - 10 รวมกันสูงถึง 6.6 - 30% ขณะที่มีกรดไขมันอิ่มตัวความยาวคาร์บอนตั้งแต่ 14 ขึ้นไป 18.2 - 39.7% นอกจากนี้ ยังมีกรดไขมันที่ดีคือกรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งหรือกรดโมโน 3.4 - 12% กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง 0.9 - 3.7% โดยสรุปคือน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นมีคุณสมบัติของเอ็มซีทีที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังที่กล่าวถึง
ในการศึกษาประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นต่อสุขภาพพบว่า นอกจากให้ประโยชน์ด้านการควบคุมน้ำหนักตัวแล้ว ยังให้ประโยชน์ด้านการเพิ่มภูมิคุ้มกัน และความทรงจำ แม้ส่งผลดีต่อองค์ประกอบของไขมันในเลือดที่ไม่ชัดเจนนัก ทว่าประโยชน์ของเอ็มซีทีในน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดยังได้รับการยอมรับ (Sankararaman S, Sferra TJ 2018) ทางด้านประโยชน์ต่อการควบคุมน้ำหนักตัว Mumme K, Stonehouse W (2015) วิเคราะห์งานวิจัยจำนวน 13 ชิ้น รวมอาสาสมัคร 749 คน พบว่า เมื่อทดแทน ไขมันที่บริโภคด้วยเอ็มซีทีจากน้ำมันมะพร้าวสามารถลดน้ำหนักตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ การศึกษา ของ Assuncao ML et al (2009) ในสตรีจำนวน 40 คน อายุ 20 - 40 ปี พบว่า การบริโภคน้ำมันมะพร้าว 30 มล. เปรียบเทียบกับน้ำมันถั่วเหลือง 30 มล. ต่อวันนาน 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าการบริโภคน้ำมันมะพร้าวลดน้ำหนักตัวและขนาดของสะโพกได้อย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาผลในนักกีฬาพบว่า เอ็มซีทีจากน้ำมันมะพร้าวเมื่อใช้ทดแทนอาหารไขมันทั่วไปช่วยลดน้ำหนักตัวนักกีฬาได้แม้ไม่แสดงผลชัดเจนนักต่อประสิทธิภาพด้านการแข่งขันกีฬาก็ตาม (Clegg ME 2010)