ในยุคปัจจุบันที่คนเราหันมาสนใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งความรู้ในด้านการป้องกันและรักษาโรคต่างๆเริ่มหันมาให้ความสนใจในแนวทางที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นและหลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น การใช้โพรไบโอติกซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ทั้งที่เป็นแบคทีเรียและยีสต์ เช่น แล็กโทบาซิลลัส บิฟิโดแบคทีเรียม และแซคคาโรไมซิส ได้รับความสนใจและนำมาใช้มากขึ้นทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โพรไบโอติกเหล่านี้รู้จักกันทั่วไปในนาม “จุลินทรีย์ดี” ที่มีส่วนช่วยในการปรับสมดุลของระบบนิเวศในร่างกาย และลดจำนวนของจุลินทรีย์ไม่ดี รวมทั้งช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากประโยชน์ด้านสุขภาพต่อระบบทางเดินอาหารและร่างกายโดยทั่วไปแล้ว ยังมีการนำโพรไบโอติกมาใช้เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพผู้หญิงโดยเฉพาะการดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นและระบบทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย โดยช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนหลังจากการรักษา
โพรไบโอติก เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ ฯลฯ ประโยชน์ของโพรไบโอติกในรูปของอาหารได้มีการเผยแพร่มานานหลายศตวรรษแล้ว แต่ในปัจจุบันโพรไบโอติกมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เม็ดรับประทาน เม็ดเคี้ยว ผงสำหรับชง ฯลฯ
ตามคำจัดความ “โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สุขภาพดีในภาวะต่างๆ โดยเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของอวัยวะแล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้”
โพรไบโอติกมีหลากหลายสายพันธุ์ทั้งที่เป็นแบคทีเรียและยีสต์ ได้แก่
เป็นแบคทีเรียที่สามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหาร ช่องคลอด และทางเดินปัสสาวะ แบคทีเรียชนิดนี้สามารถสร้างไบโอฟิล์มที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น สภาวะความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ตัวอย่างของโพรไบโอติกในกลุ่มนี้ ได้แก่ แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส แล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส แล็กโทบาซิลลัส คาเซอิ แล็กโทบาซิลลัส ริวเทริ เป็นต้น
มีรายงานการศึกษาวิจัยว่าการใช้โพรไบโอติก แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัสร่วมกับ แล็กโทบาซิลลัส สายพันธุ์อื่นสามารถช่วยป้องกันการท้องเสียได้หลายรูปแบบทั้งการท้องเสียจากการท่องเที่ยว ท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจำพวกคลอสติเดียม รวมทั้งท้องเสียที่เกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน รวมทั้งมีประโยชน์ในการสร้างสมดุลของสุขภาวะในช่องคลอดและป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้ช่องคลอดอักเสบทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา รวมทั้งลดการเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน
นอกจากนี้ยังพบว่ามารดาตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรรับประทานโพรไบโอติก แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส จะช่วยลดอาการผื่นแพ้และผิวหนังอักเสบในทารกได้ ส่วนแล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส เป็นหนึ่งในโพรไบโอติกที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่แล็กโทบาซิลลัส คาเซอิ จะส่งผลให้ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าลดลง
ปกติแล้วบิฟิโดแบคทีเรียมมีประโยชน์ในการช่วยย่อยอาหาร ช่วยผลิตกรดไขมันสายสั้นและช่วยลดการอักเสบ แต่เริ่มมีงานวิจัยที่บ่งว่าสามารถที่จะนำมาใช้ในการรักษาอาการลำไส้แปรปรวน ท้องเสียจากการท่องเที่ยว และอาการลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล
คือโพรไบโอติกที่เป็นยีสต์ซึ่งใช้ในการรักษาสมดุลของทางเดินอาหารมานาน ใช้ในการรักษาและป้องกันอาการท้องเสียหลายแบบ ได้แก่ ท้องเสียที่เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ท้องเสียจากการท่องเที่ยว และท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียม เป็นต้น
ปัจจุบันนี้พบว่าโพรไบโอติกจากเชื้อแบคทีเรียกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีการศึกษาถึงคุณประโยชน์และความปลอดภัยในวงกว้างมากขึ้น
จากการศึกษาวิจัยพบว่าโพรไบโอติกจะมีประโยชน์ในการรักษาและบรรเทาความผิดปกติในทางเดินอาหาร เช่น อาการลำไส้แปรปรวน ท้องผูก กรดไหลย้อน ท้องร่วงจาการติดเชื้อ ท้องร่วงจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ภาวะไม่ทนต่อแลคโตส ฯลฯ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกือบ70% อยู่ที่ระบบทางเดินอาหาร การที่มีโพรไบโอติกที่เป็นจุลินทรีย์ดีในปริมาณที่สมดุลกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นจึงเป็นรากฐานของการมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี นอกจากนี้โพรไบโอติกยังช่วยในเรื่องการดูแลรักษาและป้องกันโรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง และแพ้อากาศ รวมทั้งช่วยในการดูแลสุขภาพผู้หญิงทั้งในระบบทางเดินปัสสาวะและระบบการเจริญพันธุ์อีกด้วย โดยช่วยลดภาวะการติดเชื้อในช่องคลอด ช่องคลอดแห้งในภาวะหมดประจำเดือน และการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ โดยที่โพรไบโอติกสามารถที่จะเคลื่อนย้ายภายในช่องท้องส่วนอุ้งเชิงกรานจากลำใส้ใหญ่สู่กระเพาะปัสสาวะและช่องคลอดได้เนื่องจากลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะมีผนังที่อยู่ใกล้ชิดกัน
โพรไบโอติกจึงอาจกระจายตัวผ่านผนังของลำไส้เข้าสู่เยื่อบุช่องท้องส่วนอุ้งเชิงกรานและไปสู่ช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ หรือออกจากทางทวารหนักเข้าไปสู่ช่องคลอดและท่อปัสสาวะส่วนปลายได้เนื่องจากปลายเปิดของทวารหนัก ช่องคลอด และปลายเปิดของท่อปัสสาวะส่วนปลายอยู่ใกล้เคียงกัน โพรไบโอติกที่ออกจากทวารหนักจึงอาจเข้าสู่ช่องคลอดและท่อปัสสาวะส่วนปลายไปสู่กระเพาะปัสสาวะได้จากการปนเปื้อนเวลาถ่ายอุจจาระหรือจากการทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระไม่ถูกวิธี เช่น การเช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังไปด้านหน้า หรือการฉีดน้ำทำความสะอาดที่อาจทำให้เชื้อโพรไบโอติกกระจายเข้าสู่ช่องคลอดและท่อปัสสาวะส่วนปลายเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้
คือ อาหารชนิดหนึ่งเป็นสิ่งไม่มีชีวิตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลง และจะถูกย่อยสลายโดยโพรไบโอติกที่เป็นจุลินทรีย์ดี ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของโพรไบโอติก พบมากในหัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ผัก และผลไม้ต่างๆ รวมทั้งสารอาหารจำพวกกลูแคน และฟรุคแทน เช่น อินูลิน
ปรับสมดุลจุลินทรีย์และ
ค่า pH จุดซ่อนเร้นให้เหมาะสม
ลดโอกาสการติดเชื้อในช่องคลอด
และทางเดินปัสสาวะ
ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
ซ้ำซ้อนในผู้หญิง
ช่องคลอดของผู้หญิงเป็นช่องทางหนึ่งที่อวัยวะภายในเปิดออกสู่ภายนอก ดังนั้นภาวะสมดุลของช่องคลอดจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการรักษาสุขภาพของเพศหญิง โดยปกติแล้วในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียประจำถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิด “แล็กโทบาซิลลัส” ที่จะมีคุณสมบัติในการย่อยสลายแป้งไกลโคเจนที่สร้างจากเยื่อบุผนังช่องคลอดเป็นกรดแลคติกที่จะทำให้ช่องคลอดมีสภาวะความเป็นกรดอ่อนที่มีค่า pH ประมาณ 4.5 ที่จะช่วยทำให้แล็กโตบาซิลลัสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในขณะที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรค นอกจากนี้ยังช่วยในการผลิตสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไชด์ และสารแบคทีริโอซิน ที่จะช่วยฆ่าแบคทีเรียชนิดอื่นที่เป็นอันตรายต่อช่องคลอด
รวมทั้งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียการ์ดเนอเรลล่าวาจินาลิส ที่ทำให้เกิดช่องคลอดอักเสบและมีกลิ่น และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในช่องคลอดรวมทั้งช่วยป้องกันการเกิดการติดเชื้อราซ้ำซ้อนการรักษาสมดุลของช่องคลอดยังช่วยลดการอักเสบติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะส่วนปลายโดยเฉพาะกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการที่ทำให้แบคทีเรียก่อโรคไม่สะสมในบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอดอีกด้วย
ช่องคลอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อในสามอันดับแรก ได้แก่ ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียการ์ดเนอเรลล่าวาจินาลิส (ร้อยละ40-50) เชื้อรา (ร้อยละ20-25) และเชื้อพยาธิทริโฆโมแนส (ร้อยละ15-20) โดยที่การติดเชื้อทั้งสามชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ยกเว้นเชื้อราที่นอกจากติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังอาจเกิดจากการรักษาสุขอนามัยของจุดซ่อนเร้นไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม หรือเกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคอื่นเป็นเวลานานทำให้เชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกตามธรรมชาติในช่องคลอดตายไปด้วย เชื้อราที่เป็นเชื้อฉวยโอกาสจึงแพร่พันธุ์มากขึ้นและเกิดช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา
นอกจากนี้การติดเชื้อราซ้ำซ้อนภายหลังการรักษาก็เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของโลกและทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษารวมทั้งบั่นทอนคุณภาพชีวิตลงไป โดยปัญหาการติดเชื้อราซ้ำซ้อนสามารถพบได้ในผู้หญิงอายุระหว่าง 15-54 ปี แต่ในช่วงอายุ 25-34 ปีเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดการติดเชื้อราซ้ำซ้อนมากที่สุดโดยที่ร้อยละ 9 จะมีโอกาสติดเชื้อราซ้ำซ้อนได้ นอกจากนี้จะพบว่าผู้หญิง 3 ใน 4 คน หรือกว่า 75% จะเกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต และการติดเชื้อแบคทีเรียการ์ดเนอเรลลาวาจินาลิสนั้นส่วนใหญ่ ร้อยละ85 ไม่มีอาการอักเสบรุนแรงของช่องคลอดจนเกิดตกขาวผิดปกติหรือมีอาการแสบคันช่องคลอดและจุดซ่อนเร้นเช่นการติดเชื้อโรคชนิดอื่น ส่วนใหญ่มักมีอาการรู้สึกว่าจุดซ่อนเร้นมีกลิ่นคล้ายคาวปลาซึ่งกลิ่นจะรุนแรงมากขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์หรือในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน เนื่องจากในช่วงดังกล่าวจะทำให้อุณหภูมิของจุดซ่อนเร้นสูงขึ้นกลิ่นคาวปลาที่เกิดจากของเสียของเชื้อจุลินทรีย์การ์ดเนอเรลล่าจึงระเหยออกมาได้ง่าย ซึ่งกลิ่นดังกล่าวจะทำให้ผู้หญิงสูญเสียความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตและการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ครองได้ ปัญหานี้ถ้าได้รับการป้องกันและรักษาถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนแล้วก็จะเพิ่มความมั่นใจและผู้หญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อาการติดเชื้อในช่องคลอดนั้นส่วนใหญ่จะเกิดอาการตกขาวผิดปกติ บางครั้งมีสีที่เปลี่ยนไปเป็นสีเขียวเหลือง เหมือนหนอง มีกลิ่นผิดปกติ และอาจจะมีเลือดปนออกมาได้โดยที่ไม่ตรงกับช่วงเวลามีประจำเดือน คันบริเวณอวัยวะเพศ แสบร้อนเวลาปัสสาวะ รวมทั้งอาจรู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงหลายคนเมื่อเกิดช่องคลอดอักเสบแล้วอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบอีกด้วย
โรคติดเชื้อในช่องคลอดถ้ารักษาไม่ถูกต้องเหมาะสมและนานเพียงพออาจจะทำให้เกิดโรคติดเชื้อเรื้อรังได้โดยเฉพาะเชื้อราที่พบได้บ่อย เนื่องจากถ้าหลังการรักษาแล้วไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และมีวิธีการดูแลสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นให้ถูกต้อง รวมทั้งการป้องกันและรักษาสมดุลของสภาวะช่องคลอดแล้วก็อาจจะเกิดติดเชื้อซ้ำซ้อนได้อีก
การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิงพบได้มากกว่าผู้ชาย โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะพบในผู้หญิงอายุระหว่าง 20-50 ปี โดยอุบัติการณ์ของการเกิดจะแตกต่างกันไปแล้วแต่รายงานโดยสามารถพบได้ร้อยละ 25-30 โดยที่ร้อยละ 30 จะพบในผู้หญิงในช่วงอายุไม่เกิน 25 ปี ส่วนผู้หญิงวัยทองหรือหมดประจำเดือน (อายุประมาณ 50 ปี ในผู้หญิงไทย) มีอุบัติการณ์กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อร้อยละ 7.7 ต่อปี และประมาณ 1 ใน 4 ราย หรือ 25% จะมีโอกาสติดเชื้อได้อีกในระยะเวลา 1-2 ปี และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและมีการป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนแล้วก็จะเกิดการอักเสบเรื้อรังของกระเพาะปัสสาวะที่อาจจะนำไปสู่ การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อที่กรวยไตซึ่งมีผลต่อเนื่องให้มีโอกาสเป็นนิ่วในไตเพิ่มและอาจจะเป็นสาเหตุของการเสื่อมของเนื้อไตและเกิดภาวะไตวายได้ ในบางรายงานทางการแพทย์ยังพบว่าการเกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะเรื้อรังอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะป้องกันการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะจากการดูแลรักษาความสะอาดที่ถูกต้องและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เกิดความสมดุลของช่องคลอดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องถือปฏิบัติ
ผู้หญิงมีท่อปัสสาวะส่วนปลายสั้นและปลายเปิดออกสู่บริเวณปากช่องคลอดและอยู่ใกล้ทวารหนักทำให้มีโอกาศติดเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในบริเวณนั้นและเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้ออีโคไล 75-95% โดยสาเหตุหลักมักจะมาจากการทำความสะอาดหลังจากขับถ่ายอุจจาระไม่ถูกต้อง เช่น การฉีดน้ำทำความสะอาดหรือใช้กระดาษชำระจากด้านหลังมาด้านหน้าทำให้แบคทีเรียจากทวารหนักเปื้อนปนเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิงยังอาจจะมาจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด การสวนปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำน้อย เป็นเบาหวาน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ และภาวะวัยทอง เป็นต้น
การสวนล้างช่องคลอดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อได้เพราะจะไปทำลายสมดุลของความเป็นกรดของช่องคลอดและล้างเอาจุลินทรีย์ดีที่ช่วยป้องกันออกไป อาการที่พบบ่อยคือ ปัสสาวะไม่สุด ปวดเจ็บเวลาปัสสาวะสุด ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมีสีขุ่น เวลาปัสสาวะมีอาการแสบ เป็นต้น
การรักษาที่ถูกต้องควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะตรวจหาเชื้อสาเหตุจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเพียงพอ รวมทั้งทำให้เชื้อไม่ดื้อยาจนเกิดเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง และควรป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนด้วยการไม่กลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างถูกวิธีโดยการทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังการถ่ายปัสสาวะและอุจจาระแต่หลีกเลี่ยงการใช้สายล้างทำความสะอาดสาธารณะเนื่องจากสกปรกและมีการเปื้อนปนของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค การใช้ผ้าชื้นทำความสะอาดเมื่อใช้ห้องน้ำสาธารณะควรจะเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อไม่ให้แบคทีเรียเชื้อโรคจากลำไส้ใหญ่ปนเปื้อนเข้าสู่ช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะจากปลายเปิดของท่อปัสสาวะส่วนปลายที่อยู่ใกล้ชิดกับช่องคลอด รวมทั้งรักษาสมดุลของช่องคลอดตามธรรมชาติ
การใช้ชีวิตในรูปแบบปัจจุบันทำให้สมดุล
ของช่องคลอดตามธรรมชาติเสียไป
การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดไม่ว่าจะเกิดจากการปรุงอาหารที่ไม่สุกหรืออาหารหมักดองทำให้จุลินทรีย์เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนเกิดการเสียสมดุลกับจุลินทรีย์ดี หรือรับประทานอาหารที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่และไปฆ่าจุลินทรีย์ดีในช่องคลอด ล้วนแต่ทำให้สมดุลของช่องคลอดตามธรรมชาติเสียไป ความเครียดรวมทั้งการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงโอกาสที่เชื้อโรคฉวยโอกาสจะเจริญเติบโตในช่องคลอดจึงมากขึ้น
การดูสุขอนามัยในชีวิตประวัน และการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่รักษาความสะอาดก่อนและหลังมีกิจกรรมก็ทำให้เกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคและเชื้อราเข้าสู่ช่องคลอดไปทำให้เสียสมดุลกับจุลินทรีย์ดี นอกจากนี้การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานก็จะไปเปลี่ยนสภาพของผนังช่องคลอดให้บางลงรวมทั้งค่าความเป็นกรดลดลงจนเชื้อราเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญผู้หญิงนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนเพศหญิงที่จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนเพศหญิงที่ลดลงจะไปทำให้ผนังช่องคลอดบางลงและสารอาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติกธรรมชาติลดลง ทำให้ไม่สามารถผลิตกรดแลคติกได้เพียงพอจนความเป็นกรดอ่อนๆเสียไป ไม่สามารถป้องกันและฆ่าจุลินทรีย์ก่อโรคได้เหมือนเดิม
การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปมีการทำงานนอกบ้านมากขึ้นทำให้การแต่งตัวเปลี่ยนไป การศึกษาวิจัยพบว่าการใส่เสื้อผ้ารัดรูปและผ้าใยสังเคราะห์โดยเฉพาะกางเกงยีนส์และกางเกงชั้นในที่รัดแน่น รวมทั้งการใช้ผ้าอนามัยแผ่นเล็กปิดจุดซ่อนเร้นเพื่อการรักษาความสะอาดล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบริเวณจุดซ่อนเร้นทั้งสิ้น นอกจากนี้การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้นที่มีการผสมน้ำยาฆ่าเชื้อและมีความเป็นด่างสูงล้วนแต่ไปทำอันตรายต่อจุลินทรีย์ดีบริเวณจุดซ่อนเร้นทั้งสิ้น ทำให้เชื้อโรคฉวยโอกาสเจริญเติบโตได้ดีและเกิดปัญหาต่อจุดซ่อนเร้น รวมทั้งการใช้ห้องน้ำสาธารณะที่ไม่สะอาดหรือใช้สายฉีดน้ำจากห้องน้ำสาธารณะซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของช่องคลอดและอาจจะลุกลามไปถึงกระเพาะปัสสาวะได้
ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ โดยหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นมากเกินไป โดยเฉพาะกางเกงหนาๆ เช่น กางเกงยีนส์ หลีกเลี่ยงการใช้ชุดชั้นในที่ผลิตจากผ้าใยสังเคราะห์รวมทั้งการใช้ผ้าอนามัยแผ่นเล็กเป็นระจำเพื่อการรักษาความสะอาด งดการสวนล้างช่องคลอด หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่เป็นด่างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น และระวังการทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระให้ถูกวิธี ใช้ผลิตภัณฑ์ในการดูแลจุดซ่อนเร้นที่เหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการซื้อยาปฏิชีวนะใช้เองเมื่อเกิดโรค
ที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการติดเชื้อซ้ำซ้อนจะต้องปรับสุขภาวะของจุดซ่อนเร้น ปรับสภาพความเป็นกรดด่างให้อยู่ในภาวะกรดอ่อนๆ และมีปริมาณของแล็กโทบาซิลลัสสายพันธ์ุธรรมชาติในปริมาณที่เหมาะสม โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่า การได้รับโพรไบโอติก แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส และแล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส ในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยลดอุบัติการณ์ในการติดเชื้ออักเสบของช่องคลอด และลดโอกาส การติดเชื้อซ้ำซ้อนลงได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราและช่วยลดการอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย
การดูแลรักษาสมดุลของช่องคลอดทั้งการรักษาความสะอาดที่ถูกต้องและการปรับสมดุลให้ช่องคลอดมีจุลินทรีย์ชนิดดี(โพรไบโอติก)ในปริมาณที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคนอกจากจะช่วยลดการเกิดช่องคลอดอักเสบเรื้อรังและซ้ำซ้อนที่นอกจากเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังแล้ว การอักเสบเรื้อรังของช่องคลอดอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเซลล์มะเร็งจากการติดเชื้อก็ได้
นอกจากประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาวะของจุดซ่อนเร้น ป้องกันการติดเชื้อและการติดเชื้อซ้ำซ้อนของช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะแล้วโพรไบโอติกยังมีส่วนช่วยในการรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ช่วยในการย่อยอาหารให้สมบูรณ์ ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหารบางชนิด รวมทั้งการที่มีความสมดุลของโพรไบโอติกที่เป็นจุลินทรีย์ดีในลำไส้ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ลดอาการเครียด ช่วยเพิ่มคุณภาพในการนอน และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง