30 JAN 2024 บทความผลิตภัณฑ์ 6 นาทีในการอ่าน 1520 VIEWS

รังสีอัลตราไวโอเลต คืออะไร มีกี่ชนิด อันตรายต่อสุขภาพผิวที่ควรรู้

รังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสี UV เป็นรังสีที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากได้รับมากจนเกินไปอาจส่งผลเสียต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ บทความนี้จะมามอบความรู้เกี่ยวกับรังสียูวีว่าประเภทของรังสี UV มีกี่ชนิดและมีอันตรายอะไรบ้างที่ควรรู้ เพื่อที่จะได้ป้องกันอย่างถูกวิธี

รังสีอัลตราไวโอเลต คืออะไร

รังสีอัลตราไวโอเลต เป็นพลังงานที่มาพร้อมกับแสงแดด มีความยาวคลื่นที่ต่ำกว่าแสงระหว่าง 40 ถึง 400 นาโนเมตร จึงไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า2 โดยรังสียูวีเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสายตาเป็นอย่างมาก จึงควรหลีกเลี่ยงและป้องกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

รังสีอัลตราไวโอเลต มาจากไหน

รังสีอัลตราไวโอเลต มาจากไหน

รังสีอัลตราไวโอเลตมีแหล่งที่มาอยู่หลายแหล่ง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่หลักๆ คือแสงจากดวงอาทิตย์ และแสงที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนี้

รังสีอัลตราไวโอเลต จากแสงแดด

แสงยูวีส่วนใหญ่มีที่มาจากแสงแดด โดย 95% คือ UVA และอีก 5% คือ UVB3 นอกจากนี้ความเข้มข้นของรังสี UV จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่

  • ช่วงเวลา: ช่วงเวลาที่แสง UV มีความเข้มข้นสูง และควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด คือระหว่าง 11.00 น. ถึง 14.00 น.

  • ฤดูกาล: ประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนค่าดัชนีแสง UV จะมีความเข้มข้นสูงที่สุดอยู่ที่ 12 ซึ่งมากกว่าฤดูหนาวอยู่ที่ประมาณ 1-2 หน่วย

  • เส้นศูนย์สูตร (ละติจูด): ประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทย จะได้รับแสงยูวีปริมาณมากกว่าประเทศที่อยู่ไกลเส้นศูนย์สูตร

  • ภูมิประเทศ: ยิ่งอยู่ในประเทศที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ก็จะยิ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก และได้รับรังสี UV มาก

  • เมฆ: ในวันที่มีเมฆน้อยจะได้รับรังสียูวีมากกว่าในวันที่มีเมฆมาก อย่างไรก็ตาม รังสี UV สามารถทะลุผ่านได้แม้ในวันที่มีเมฆมากเช่นกัน

  • การสะท้อนออกจากพื้นผิว: รังสียูวีสามารถสะท้อนจากพื้นผิวต่างๆ เช่น น้ำ ทราย หิมะ ทางเท้า หรือแม้แต่หญ้า

  • ชั้นบรรยากาศ: โอโซนในบรรยากาศชั้นบน จะมีส่วนช่วยกรองรังสียูวีบางส่วนออกไป

รังสีอัลตราไวโอเลต จากมนุษย์

รังสีอัลตราไวโอเลตจากมนุษย์ มาจากอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่

  • หลอดไอปรอท: หลอดไฟตามพื้นที่เปิด หรือพื้นที่สาธารณะอย่างหลอดไฟตามถนน ห้างสรรพสินค้า หรือยิม ส่วนมากจะเป็นหลอดไฟ 2 หลอด คือหลอดไฟด้านในที่ปล่อยแสงและรังสียูวี และหลอดไฟด้านนอกที่กรองรังสียูวี หากหลอดไฟมีอายุการใช้งานนาน หลอดไฟด้านนอกอาจชำรุดและทำให้แสง UV จากหลอดไฟด้านในเล็ดลอดออกมาได้

  • หลอดไฟแบบเก่า: หลอดไฟแบบเก่าบางประเภทเช่น หลอดไฟฮาโลเจน หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เป็นหลอดไฟที่ปล่อยรังสี UV ออกมา

  • หลอดไฟนีออน: หลอดไฟนีออนปล่อยรังสี UV ออกมาเพื่อกระตุ้นสารเรืองแสงในตัวหลอดไฟให้สว่างขึ้น ดังนั้นแสง UV จึงอาจเล็ดลอดออกมาได้ด้วย

  • โคมไฟแสงสีดำ: โคมไฟแสงสีดำ หรือแบล็กไลท์ตามผับหรือบาร์ เป็นโคมไฟที่ปล่อยรังสี UVA ออกมาเป็นส่วนมาก แม้จะมีหลอดไฟด้านนอกที่ช่วยปิดกั้นรังสี UVA แต่รังสีบางส่วนก็เล็ดลอดออกมาได้

  • โคมไฟอาบแดดและเตียงอาบแดด: โคมไฟอาบแดดส่วนมากจะปล่อยรังสี UVA ออกมาเพื่อกระตุ้นการเกิดของเม็ดสีผิว ทำให้ผิวคล้ำขึ้น

  • การส่องไฟ (การบำบัดด้วยรังสียูวี): การบำบัดด้วยรังสียูวี จะปล่อย UVA ออกมาเพื่อรักษาโรคเฉพาะอย่างสะเก็ดเงิน ผื่น ด่างขาว ภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น

    ประเภทของรังสีอัลตราไวโอเลต

    ประเภทของรังสีอัลตราไวโอเลต

    ประเภทรังสีอัลตราไวโอเลตแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลักๆ ตามความยาวของคลื่น ได้แก่ UVA UVB และ UVC ดังนี้

    รังสี UVA

    รังสี UVA คือ รังสีที่มีช่วงความยาวคลื่นอยู่ที่ 320-400 นาโนเมตร เป็นรังสีที่ไม่ถูกดูดซับจากชั้นบรรยากาศ มนุษย์ได้รับรังสีชนิดนี้โดยตรงและมากกว่าชนิดอื่นๆ UVA มีส่วนทำให้เม็ดสีในผิวถูกทำลาย ผิวคล้ำขึ้น ทำลายคอลลาเจนในผิว และเป็นตัวการในการสร้างอนุมูลอิสระอีกด้วย11

    รังสี UVB

    รังสี UVB คือ รังสีที่มีช่วงความยาวคลื่นอยู่ที่ 290-320 นาโนเมตร ชั้นบรรยากาศของโลกสามารถดูดซับรังสีชนิดนี้ได้บางส่วน ทำให้มีรังสี UVB ลอดตกลงมายังพื้นโลก โดย UVB มีส่วนในการทำลายเซลล์ผิว ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง และโรคเกี่ยวกับผิวหนังอื่นๆ ได้ หากดวงตาสัมผัสกับ UVB มากเกินไปก็จะทำให้เกิดต้อลมได้อีกด้วย11

    รังสี UVC

    รังสี UVC คือ รังสีที่มีช่วงความยาวคลื่นอยู่ที่ 220-290 นาโนเมตร เป็นรังสีจากธรรมชาติที่ชั้นบรรยากาศโลกสามารถดูดซับได้ทั้งหมด รังสีชนิดนี้จึงไม่ตกลงมายังพื้นโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีแหล่งที่มาของรังสี UVC ที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างโคมไฟ หรือเลเซอร์ต่างๆ โดยการได้รับรังสี UVC จะทำให้ผิวไหม้ และสร้างความเสียหายแก่ดวงตาได้

    ผลกระทบของรังสีอัลตราไวโอเลต

    Amway-Artistry-nov-4-3.jpg

    ผลกระทบของรังสีอัลตราไวโอเลตมีอันตรายแก่ร่างกายมากกว่าที่คิด หากได้รับในปริมาณสูงเป็นระยะเวลานาน โดยผลกระทบต่อร่างกายที่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลต มีดังนี้

    1. เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง

    จากงานวิจัยพบว่าในแต่ละปี มีผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นๆ4 ทุกๆ หนึ่งชั่วโมงมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งนี้ การป้องกันไม่ให้ร่างกายโดนรังสี UV จึงเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้มากที่สุด

    2. ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย

    นอกจากโรคมะเร็งผิวหนังแล้ว รังสี UV ยังก่อให้เกิดโรคผิวหนังต่างๆ ได้แก่ โรคผิวหนังแพ้แดด (actinic keratoses) และโรคผิวหนังแก่ก่อนวัย4 เพราะเมื่อร่างกายได้รับรังสี UV เป็นเวลานาน ผิวจะหนาและมีรอยเหี่ยวย่นมากขึ้นทำให้ผิวดูแก่ก่อนวัย อย่างไรก็ตาม กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการเปลี่ยนแปลงของผิวที่มองเห็นได้ชัดนั้นเกิดจากแสงแดด การป้องกันรังสี UV ที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันริ้วรอยก่อนวัยของผิวได้

    3. ทำให้ผิวถูกแดดเผา

    ผิวไหม้แดดเกิดจากการที่ผิวหนังได้รับรังสี UV มากเกินกว่าที่เมลานินในร่างกายสามารถป้องกันได้5 อาการของผิวไหม้แดดเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ทำให้เกิดอาการปวด แดง และพุพอง

    4. ทำให้เกิดริ้วรอย

    การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต จะไปกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของอนุมูลอิสระภายในผิวหนัง ซึ่งทำลายเส้นใยอีลาสตินในผิวหนัง6 การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังนี้เป็นสาเหตุของการเกิดริ้วรอยและยังทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลและความผิดปกติของเม็ดสี

    5. ทำให้เกิดจุดด่างดำ

    รอยจุดด่างบนผิวหนังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าผิวหนังได้รับแสงรังสีอัลตราไวโอเลตในปริมาณที่สูง7,8 โดยแสง UV จะเข้าไปเร่งการผลิตเมลานิน ทำให้เซลล์เม็ดสีบางจุดในผิวทำงานผิดปกติ และผลิตเซลล์เม็ดสีผิวออกมา จนเห็นเป็นรอยด่างดำนั่นเอง ลักษณะของรอยนี้จะเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลเข้ม พบบริเวณที่โดนแดดโดยตรงเช่น หน้าผาก แขน ใบหน้า หัวไหล่เป็นต้น แม้ว่ารอยด่างดำนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่ส่งผลกับความสวยงาม

    6. ทำลายภูมิคุ้มกัน

    การได้รับรังสี UV ในปริมาณมากจนเกินไปอาจไประงับความปกติของการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและการป้องกันตามธรรมชาติของผิวหนัง4,9 ตัวอย่างเช่น โดยปกติแล้วผิวหนังจะมีหน้าที่ป้องกันปัจจัยภายนอกที่เข้ามา เช่น มะเร็ง มลภาวะหรือเชื้อโรค แต่การได้รับรังสี UV มากเกินไปอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้ผิวหนังป้องกันสิ่งต่างๆ จากภายนอกได้ลดลง

    7. ทำให้เกิดอาการแพ้แสงแดด

    อาการแพ้แสงแดดเกิดจากการที่ผิวหนังไวต่อรังสีอัลตราไวโอเลต ผู้ที่แพ้แสงแดดจะมีอาการคัน เจ็บปวด พุพอง หรือมีผื่นลอกได้ ซึ่งระยะเวลาที่แพ้และความรุนแรงจะแตกต่างกันไป ในบางรายอาจเกิดอาการระคายเคืองจนถึงขั้นรุนแรงได้9

    8. ผลกระทบต่อดวงตา

    ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแสงยูวีในปริมาณมาก ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดโรคที่เกี่ยวกับดวงตาตามมา ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งผิวหนังรอบดวงตา ต้อเนื้อ และต้อกระจก9 ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงทำให้ตาบอดได้ ปัญหาเกี่ยวกับดวงตาที่มาจากแสง UV สามารถลดลงได้หากได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสม

    วิธีการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต

    จากสาเหตุข้างต้น จะพบว่ารังสีอัลตราไวโอเลตเป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพและความสวยงาม การป้องกันอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดจากรังสียูวีได้

    ทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ

    ครีมกันแดดเป็นผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นมาเพื่อป้องกันรังสียูวีไม่ให้ผิวถูกทำร้าย ช่วยป้องกันผิวไหม้จากแสงแดด รวมทั้งการเกิดริ้วรอย จุดด่างดำต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนัง1 เนื่องจากแดดประเทศไทยค่อนข้างแรง จึงควรพิจารณาค่า SPF และ PA เป็นหลัก เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันสูงสุด ค่าที่เหมาะสมคือ SPF50+ และ PA++++ พร้อมกับการหมั่นทาซ้ำอยู่เสมอ

    หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดในช่วงกลางวัน

    แดดในช่วงกลางวันเป็นช่วงที่รังสี UV มีความเข้มข้นสูง10 ดังนั้น ควรจะสวมเสื้อผ้าหรือพกอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผิวหนังไม่ได้รับแสงแดดมากจนเกินไป โดยช่วงที่ปลอดภัยคือช่วงก่อน 11.00 น. และหลัง 14.00 น.

    สวมเสื้อแขนยาว และกางเกงขายาวที่มีสีเข้ม

    สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเพื่อไม่ให้ผิวถูกแดดสัมผัสมากที่สุด โดยเสื้อผ้าที่มีสีเข้มจะช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์10

    สวมแว่นตากันแดด

    แสงแดดเป็นสาเหตุของโรคตาจำนวนมาก การสวมแว่นกันแดดจะช่วยกรองแสงยูวีไม่ให้เข้ามาทำร้ายดวงตาโดยตรง โดยประสิทธิภาพของแว่นตากันแดดไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่ควรเลือกแว่นกันแดดที่ได้มาตรฐานและมีเครื่องหมาย UV 400 ที่เป็นเครื่องหมายบ่งชี้ว่าแว่นกันแดดมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้ถึง 99-100%10

    สวมหมวก และใช้ร่มกันแดด

    ในช่วงกลางวันที่แสงแดดกระทบมาจากด้านบน10 การสวมแว่นกันแดดเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ควรสวมหมวกหรือใช้ร่มกันแดดเสริมเพื่อป้องกันผิวหนังจากแสงแดดได้มากที่สุด

    หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำผิวสีแทน และหลอดไฟแสงยูวี

    แม้ว่าการทำผิวเข้มหรือผิวสีแทนจะได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะในประเทศยุโรป องค์การอนามัยโลก WHO แนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำผิวสีแทน เพราะหลอดไฟแสงยูวีทำให้ผิวหนังได้รับรังสียูวีปริมาณมากกว่าปกติในระยะเวลาสั้น อีกทั้งยังพบว่าการทำผิวสีแทนก่อให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังถึง 2 เท่าอีกด้วย

    สรุป

    รังสีอัลตราไวโอเลตเป็นรังสีที่ส่วนใหญ่มาจากดวงอาทิตย์ รวมทั้งอุปกรณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น หากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นหรือสูงมากเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพผิวหนังและดวงตาทำให้เกิดโรคอันตรายต่างๆ การป้องกันที่ดีที่สุด คือทาครีมกันแดดป้องกันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงการสัมผัสช่วงเวลาแดดจัด

    Reference

    1. พบแพทย์. รังสีอัลตราไวโอเลต ประโยชน์และโทษต่อร่างกาย. pobpad.com. Published (no date). Retrieved 8 November 2023. 

    2. ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต. มารู้จักรังสียูวีกัน. eent.co.th. Published (no date). Retrieved 8 November 2023.

    3. American Cancer Society. Ultraviolet (UV) Radiation. cancer.org. Published 10 July 2019. Retrieved 8 November 2023.

    4. United States Environmental Protection Agency. Health Effects of UV Radiation. epa.gov. Published 15 December 2022. Retrieved 8 November 2023.

    5. Johns Hopkins Medicine. Ultraviolet radiation. hopkinsmedicine.org. Published 2021. Retrieved 8 November 2023. 

    6. Better Health Channel.. Wrinkles. betterhealth.vic.gov.au. Published 2001. Retrieved 8 November 2023. 

    7. Cleveland Clinic. Liver Spots. clevelandclinic.org. Published (no date). Retrieved 8 November 2023. 

    8. Emily Brown, M. What are liver spots?. Verywell Health. Published 31 January 2023 Retrieved 8 November 2023. 

    9. Curtis, L. Can you be allergic to the sun?. health.com. Published 30 July 2023. Retrieved 8 November 2023.

    10. รามา. แนะนำเคล็ดลับในการป้องกันแสงแดด. rama.mahidol.ac.th. Published (no date). Retrieved 8 November 2023.

    11. MD Anderson Cancer Center. What’s the difference between UVA and UVB rays?. mdanderson.org. Published June 2019. Retrieved 8 November 2023.