17 DEC 2021 บทความผลิตภัณฑ์ 2 นาทีในการอ่าน 9166 VIEWS 28 แชร์

สารสกัดจากเมล็ดกาแฟสีเขียว | นิตยสารอะชีฟ ฉบับมกราคม 2565

สารสกัดจากเมล็ดกาแฟสีเขียว

ต่อการลดระดับไขมันและเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน

โดย ศาสตราจารย์ ดร.สิริชัย อดิศักดิ์วัฒนา ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กาแฟกับประโยชน์ต่อสุขภาพ


cup_xs_Jan22.jpg


ในเมล็ดกาแฟสดสีเขียวนั้นพบสารสำคัญในกลุ่มกรดคลอโรจีนิกมากกว่าร้อยละ 80 ของสารไฟโตนิวเทรียนต์ทั้งหมดในเมล็ดกาแฟสด โดยประกอบด้วยกรดคาเฟโออิลควินิก กรดไดคาเฟโออิลควินิก และกรดเฟอรูโออิลควินิก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีและให้ฤทธิ์ต้านการอักเสบ แต่ความร้อนจากการคั่วเมล็ดกาแฟสดสีเขียวมักสลายสารในกลุ่มกรดคลอโรจีนิก ยิ่งใช้ความร้อนสูงมากเท่าไรจะยิ่งเพิ่มโอกาสการสูญเสียสารสำคัญในกลุ่มนี้ได้เกือบ 100% นอกจากนี้ยังพบว่าเมล็ดกาแฟสดสีเขียวที่ผ่านการคั่วจะตรวจพบปริมาณคาเฟอีนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน1

สารสกัดจากเมล็ดกาแฟสดสีเขียว ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ปัจจุบันนิยมบริโภคเมล็ดกาแฟสดสีเขียวในรูปสารสกัด และใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับบุคคลที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก จากข้อมูลงานวิจัยพบว่าเมื่อบริโภคสารสกัดจากเมล็ดกาแฟสดสีเขียวที่ประกอบด้วยสารในกลุ่มกรดคลอโรจีนิกมากกว่าร้อยละ 50 ในขนาด 500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ช่วยลดค่าดัชนีมวลกายลง 0.93 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (kg/m2) ในกลุ่มบุคคลที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เกินกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ในขณะที่กลุ่มบุคคลในลักษณะเดียวกันที่ไม่ได้บริโภคสารสกัดดังกล่าวพบค่าดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้น 0.25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร อีกทั้งพบว่าสารสกัดจากเมล็ดกาแฟสดสีเขียวยังช่วยลดมวลไขมันในร่างกาย (Fat Mass) และเพิ่มมวลของร่างกายที่ปราศจากไขมัน (Lean Body Mass) โดยไม่พบอาการไม่พึงประสงค์หลังจากรับประทาน และยังตรวจพบสารชีวเคมีในเลือดที่บ่งชี้ถึงการทำงานของตับและไตอยู่ในเกณฑ์ปกติ นับว่าสารสกัดจากเมล็ดกาแฟสดสีเขียวให้ความปลอดภัยต่อร่างกายสูงเมื่อบริโภคในระยะเวลานาน2


bmi_xs_Jan22.jpg


ประโยชน์ของสารสกัดจากกาแฟสดสีเขียว ต่อการลดระดับไขมันและเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน

นักวิทยาศาสตร์ทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์ผลลัพธ์แบบอภิมาน (Systematic Review and Meta-analysis) โดยใช้งานวิจัย 17 ฉบับ พบว่าการบริโภคสารสกัดจากเมล็ดกาแฟสดสีเขียวที่อุดมไปด้วยสารในกลุ่มกรดคลอโรจีนิกอย่างน้อย 400 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 - 12 สัปดาห์ ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล แอลดีแอล-โคเลสเตอรอล และเพิ่มระดับเอชดีแอล-โคเลสเตอรอลในกลุ่มบุคคลที่มีน้ำหนักตัวเกิน เป็นโรคอ้วน และกลุ่มคนที่มีอาการผิดปกติทางเมแทบอลิก อย่างไรก็ตาม ไม่พบผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ นับได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่กล่าวอ้างถึงประโยชน์ของสารสกัดจากเมล็ดกาแฟสดสีเขียวต่อการลดระดับไขมันในเลือดได้เป็นอย่างดี3


xs_Jan22.jpg


จากผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงมวลไขมันและลดระดับไขมันในเลือดนั้น นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากกาแฟสดสีเขียว ซึ่งพบว่าสารในกลุ่มกรดคลอโรจีนิกเป็นสารสำคัญตัวหลักที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการแสดงออกยีนที่มีชื่อว่า “Peroxisome Proliferator-activated Receptor Gamma (PPAR-γ)” ซึ่งจะช่วยเร่งกระบวนการสลายไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ที่สะสมในเซลล์ไขมันให้เป็นกรดไขมันอิสระและขนส่งไปที่เซลล์ตับเพื่อใช้ประโยชน์ต่อร่างกาย สารในกลุ่มกรดคลอโรจีนิกยังเพิ่มการทำงานของ AMP-activated Protein Kinase (AMPK) ซึ่งเป็นโปรตีนช่วยสนับสนุนการทำงานของโปรตีนชนิดอื่นโดยเพิ่มการขนส่งกรดไขมันอิสระเข้าสู่ในเซลล์ตับ ช่วยเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชันของกรดไขมันและเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย4 สารในกลุ่มกรดคลอโรจีนิกจากสารสกัดจากเมล็ดกาแฟสดสีเขียวช่วยชะลอการย่อยไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์ในอาหาร โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลเปสจากตับอ่อน มีผลให้ลดการย่อยและดูดซึมไขมันเข้าสู่กระแสเลือดได้5


icon_xs_Jan22.jpg


แม้ว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยสนับสนุนการบริโภคสารสกัดจากเมล็ดกาแฟสดสีเขียวต่อการเปลี่ยนแปลงมวลไขมันในร่างกาย และลดระดับไขมันในเลือดก็ตาม แต่เพื่อการควบคุมน้ำหนักตนเองให้เห็นผลและมีประสิทธิภาพนั้น ผู้บริโภคควรจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารในกลุ่มข้าวและแป้งในแต่ละมื้อ และเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้พร้อมกับออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อดึงพลังงานไขมันส่วนเกินออกมาใช้ได้มากยิ่งขึ้น

Footer_xs_Jan22.jpg

ข้อมูลอ้างอิง

1 Pimpley V, Patil S, Srinivasan K, et al. The chemistry of chlorogenic acid from green coffee and its role in attenuation of obesity and diabetes. Prep Biochem Biotechnol.2020;50(10):969-97.
2 Sudeep HV, Prasad KS. Supplementation of green coffee bean extract in healthy overweight subjects increases lean mass/fat mass ratio: A randomized, double-blind clinical study. SAGE Open Med. 2021;9:20503121211002590.
3 Ding F, Ma B, Nazary-Vannani A, et al. The effects of green coffee bean extract supplementation on lipid profile in humans: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Nutr Metab Cardiovasc Dis. 2020;30(1):1-10.
4 Choi B-K, Park S-B, Lee D-R, et al. Green coffee bean extract improves obesity by decreasing body fat in high-fat diet-induced obese mice. Asian Pac J Trop Med. 2016;9(7):635-43.
5 Ahmad I, Syakfanaya AM, Azminah A, et al Optimization of betaine-sorbitol natural deep eutectic solvent-based ultrasound-assisted extraction and pancreatic lipase inhibitory activity of chlorogenic acid and caffeine content from robusta green coffee beans. Heliyon. 2021;7(8):e07702.