คุชชั่นคืออะไร? ต่างจากรองพื้นยังไง วิธีเลือกให้เหมาะกับผิว
Key Takeaway
- คุชชั่น คือผลิตภัณฑ์รองพื้นในรูปแบบตลับที่มาพร้อมพัฟฟ์ สะดวก ใช้ง่าย และช่วยให้ผิวดูสวยธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถทัชอัประหว่างวันได้ ข้อดีคือพกพาสะดวก เหมาะกับลุคที่ต้องการความสดชื่น
- ส่วนรองพื้นมักอยู่ในหลอด หรือขวด เนื้อสัมผัสมีความหลากหลาย และช่วยเรื่องการปกปิด
- การใช้คุชชั่น สามารถใช้พัฟกดเบาๆ บนฟองน้ำในตลับ ค่อยๆ ตบลงบนผิวให้เนียนสม่ำเสมอ
- เลือกคุชชั่นตามประเภทผิว คือ ผิวมันควรเลือกแบบแมทท์ ผิวแห้งควรเลือกที่ให้ความชุ่มชื้น ผิวผสมควรเลือกเนื้อกึ่งแมทท์ และผิวบอบบางควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยน
|
อาร์ทิสทรี เมกอัป
เนรมิตผิวสวยสมบูรณ์แบบ
คุชชั่น (Cushion) คือตัวช่วยปกปิดผิวให้ดูเรียบเนียนที่ดีกว่าแป้งผสมรองพื้น ให้ลุคการแต่งหน้าที่ดูเป็นธรรมชาติ มีคุณสมบัติติดทน ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด และบำรุงผิว
รู้จัก คุชชั่น คืออะไร?
คุชชั่น คืออะไร? คุชชั่น (Cushion) เป็นเครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมสูงในวงการบิวตี้ โดยเฉพาะในเกาหลี เพราะประเทศเกาหลีใต้เป็นชาติแรกที่คิดค้นคุชชั่น1
โดยคุชชั่นเป็นรองพื้นที่มีลักษณะค่อนข้างเหลวหนืด มาในรูปแบบตลับ ที่มีฟองน้ำชุบรองพื้นเก็บไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้รองพื้นเลอะซึมออกมาจากตลับ ใช้งานสะดวก และควบคุมปริมาณการใช้ได้อย่างง่ายดาย
คุณสมบัติเด่นของคุชชั่น
คุชชั่นช่วยอะไรบ้าง ทำไมจึงเป็นตัวเลือกที่ยอดนิยมในหมู่ผลิตภัณฑ์แต่งหน้า
- ช่วยให้ผิวดูเรียบเนียนเป็นธรรมชาติทันทีหลังการใช้
- มีความสามารถในการปกปิดรอยต่างๆ บนใบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีหลายสูตรที่ผสมสารบำรุงผิว เช่น สารเพิ่มความชุ่มชื้น และกันแดด ช่วยดูแลผิวไปพร้อมกับการแต่งหน้า
- ยึดเกาะผิวได้ดี ทำให้เครื่องสำอางติดทนนานตลอดทั้งวัน
คุชชั่น VS. รองพื้น ต่างกันอย่างไร
เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคุชชั่น และรองพื้น ทั้งในส่วนของเนื้อสัมผัส เฉดสี บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสม ดังนี้
เนื้อสัมผัส
- คุชชั่นมีเนื้อเหลวหนืด บรรจุในตลับ พร้อมฟองน้ำสำหรับเก็บผลิตภัณฑ์ และพัฟสำหรับทา ใช้งานสะดวก เหมาะสำหรับการพกพา
- รองพื้นทั่วไป มีเนื้อสัมผัสหลากหลาย เช่น แบบเหลว แบบครีม หรือแบบมูส และต้องใช้แปรง หรือฟองน้ำในการทา
เฉดสี
- คุชชั่นมักมีเฉดสีที่จำกัด เนื่องจากเริ่มต้นทำมาเพื่อคนเกาหลีโดยเฉพาะ และส่วนใหญ่จะทำเป็นอันเดอร์โทนเหลือง แต่ปัจจุบันก็มีเฉดสีที่หลากหลายมากขึ้น เริ่มมีโทนสำหรับผิวเข้มให้เลือกใช้ แต่ยังไม่เยอะเท่ารองพื้น
- รองพื้นมีเฉดสีหลากหลาย ตั้งแต่สีอ่อนจนถึงเข้ม ช่วยให้เลือกเฉดสีที่ตรงกับสีผิวของแต่ละคนได้ง่ายขึ้น
บรรจุภัณฑ์
- คุชชั่นมาในตลับที่มีพัฟอยู่ด้านใน จึงสะดวกในการพกพา และการใช้งาน สามารถใช้พัฟแตะคุชชั่นแล้วเกลี่ยให้ทั่วใบหน้าได้ทันที
- รองพื้นมักจะมาในแพ็กเกจที่ไม่มีกระจก และอุปกรณ์แต่งหน้า ต้องเตรียมกระจก และฟองน้ำแต่งหน้าเอง
ส่วนผสม
- คุชชั่นมีส่วนผสมบำรุงผิว ได้แก่ สารแอนตี้ออกซิแดนท์ อย่างวิตามินซี วิตามินอี ที่ช่วยปกป้องผิวจากมลภาวะ มีกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) ที่ช่วยเติมความชุ่มชื้นให้ผิว และสารสกัดจากพืช อย่างว่านหางจระเข้ และชาเขียว ที่ช่วยปลอบประโลมผิว และลดการอักเสบ
- รองพื้นมีส่วนผสมที่สารให้ความชุ่มชื้น เช่น ไฮยาลูโรนิกจากพืช สารสกัดจากมิลค์ทิสเซิล เป็นต้น
ข้อดีของคุชชั่น ช่วยเรื่องอะไรบ้าง?
- พกพาง่าย เพราะอยู่ในรูปแบบตลับ ใช้สะดวกไม่เลอะเทอะ
- ใช้คุชชั่นตอนไหนก็ได้ สามารถเติมการปกปิด และทัชอัประหว่างวันได้อย่างรวดเร็ว
- ผิวดูเป็นธรรมชาติ และเบาสบายมากกว่าการใช้รองพื้น
- มักผสมสารกันแดด เติมการปกป้องให้ผิวไปพร้อมกับการแต่งหน้า
เคล็ดลับเลือกคุชชั่นให้เหมาะกับผิว ที่ควรรู้!
ก่อนซื้อคุชชั่น มีปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณา เพื่อให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการ และสภาพผิว ดังนี้
1. เลือกคุชชั่นตามประเภทผิว
ก่อนเลือกซื้อคุชชั่น ควรเข้าใจประเภทผิวของตัวเองให้ดี เพื่อที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของผิวได้อย่างถูกต้อง
- ผิวมัน ควรเลือกคุชชั่นที่ควบคุมความมันส่วนเกิน และให้ผลลัพธ์แบบแมทท์ ควรหลีกเลี่ยงการเลือกคุชชั่นที่ให้ความชุ่มชื้น หรือให้ผลลัพธ์แบบฉ่ำโกลว์ เพราะอาจทำให้ใบหน้าดูมันเยิ้มมากขึ้น หรือถ้าใช้เนื้อคุชชั่นที่มันเกินไปอาจทำให้แต่งหน้าไม่ติดทน
- ผิวแห้ง หากเลือกคุชชั่นที่มีลักษณะแมทท์ หรือแห้งมากๆ เกิดการตกร่องได้ง่าย ควรเลือกคุชชั่นที่ให้ความชุ่มชื้น และมีส่วนผสมของสารบำรุงผิว เช่น กรดไฮยาลูโรนิก หรือสารสกัดจากมิลค์ทิสเซิล เพื่อให้ผิวดูสดชื่น และมีความฉ่ำน้ำ
- ผิวผสม ผิวผสมต้องการการดูแลที่สมดุล ควรเลือกคุชชั่นที่มีผลลัพธ์แบบกึ่งแมทท์ หรือซาติน ซึ่งให้ความชุ่มชื้นในบริเวณที่แห้ง และควบคุมความมันใน T-Zone ได้ดี หรือตบท้ายด้วยการใช้แป้งฝุ่นในบางจุดของใบหน้า เพื่อช่วยควบคุมความมัน
- ผิวบอบบางแพ้ง่าย ควรมองหาคุชชั่นที่มีป้ายระบุว่า ‘ปราศจากสารก่อภูมิแพ้’ หรือ ‘ผ่านการทดสอบจากแพทย์ผิวหนัง’ เพื่อให้มั่นใจ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นคลีนบิวตี้ ที่ปราศจากสารระคายเคืองผิว เพื่อลดโอกาสการแพ้ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ No List ของคลีนบิวตี้ได้ที่นี่ Clean Beauty & No Animal Testing
2. เนื้อคุชชั่นต้องตอบโจทย์งานผิว
การเลือกเนื้อคุชชั่นนั้น ขึ้นอยู่กับลุคที่ต้องการ ว่าจะให้ผิวออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งควรพิจารณาตามความต้องการ เพื่อให้เลือกเนื้อคุชชั่นที่เหมาะสมที่สุด
- เนื้อแมทท์ ให้ผลลัพธ์แบบแมทท์ ช่วยควบคุมความมัน และให้ผิวเรียบเนียน มีความนุ่มลื่น
- เนื้อฉ่ำโกลว์ ให้ผลลัพธ์แบบฉ่ำโกลว์ ให้ลุคที่เปล่งประกาย และดูสดใส
- เนื้อกึ่งแมทท์ ให้ความสมดุลระหว่างลุคแมทท์ และฉ่ำโกลว์
- เนื้อปกปิดแบบเพิ่มระดับได้ หากต้องการความหลากหลาย ควรเลือกคุชชั่นที่สามารถปรับระดับการปกปิดได้ตามต้องการ
3. การเลือกเฉดที่ใช่กับสีผิว
การเลือกเนื้อคุชชั่นให้เข้ากับเฉดสีผิวเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้ผิวที่เป็นธรรมชาติ ควรพิจารณาเลือกเฉดสีที่ตรงกับสีผิวเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
- เลือกตามระดับความเข้มของสีผิว ควรทิ้งคุชชั่นไว้บนผิวประมาณ 5-10 นาที เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงสี ที่อาจเกิดจากอุณหภูมิ และอากาศ วิธีนี้จะช่วยป้องกันปัญหาหน้าลอย หรือหน้าดูเทาเมื่อใช้จริง
- เลือกตามอันเดอร์โทนผิว คุชชั่นส่วนใหญ่มีโทนสีหลักๆ คือ โทนเย็น โทนอบอุ่น และโทนกลาง สามารถตรวจสอบโทนสีผิวตัวเองได้โดยการดูเส้นเลือดที่ข้อมือ หากเส้นเลือดดูเป็นสีฟ้าแสดงว่ามีโทนสีเย็น หากเส้นเลือดเป็นสีเขียวแสดงว่ามีโทนสีอบอุ่น และหากมีสีผสมกันแสดงว่ามีโทนกลาง
- เลือกตามการทดสอบผิวในแสงธรรมชาติ ควรทดสอบเฉดสีคุชชั่นในแสงธรรมชาติเสมอ ทาเนื้อคุชชั่นเล็กน้อยที่แนวกราม แล้วเกลี่ยให้เรียบ เฉดสีที่เหมาะสมจะต้องกลมกลืนกับสีผิวอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ทิ้งรอยเส้นที่เห็นได้ชัด
4 วิธีใช้งานคุชชั่น ให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อรู้แล้วว่าคุชชั่นคืออะไร มาดูว่าคุชชั่นใช้อย่างไร? ซึ่งวิธีใช้งานคุชชั่นให้มีประสิทธิภาพ มีดังนี้
- วอร์มเนื้อคุชชั่น: โดยส่วนใหญ่แล้ว ฝาตลับด้านซ้ายของคุชชั่นจะมาพร้อมพื้นที่สำหรับวอร์มเนื้อคุชชั่นก่อน แล้วจึงแตะพัฟเบาๆ บนผิวทั่วใบหน้า
- ใช้เทคนิคการแตะ: แนะนำให้ใช้วิธีการแตะเบาๆ แทนการถู เพื่อให้เนื้อคุชชั่นกลืนเข้ากับผิวและให้การปกปิดที่ดีขึ้น
- เพิ่มการปกปิด: หากต้องการการปกปิดที่มากขึ้น สามารถใช้แปรงแต่งหน้า หรือพัฟกดซ้ำในบริเวณที่ต้องการการปกปิดเพิ่มเติม
- เซ็ตด้วยแป้งฝุ่น: สำหรับผู้ที่มีผิวมันหรือผิวผสม แนะนำให้ใช้แป้งฝุ่นเซ็ตบริเวณ T-Zone เพื่อช่วยให้คุชชั่นติดทนนานขึ้น
อาร์ทิสทรี เมกอัป
เนรมิตผิวสวยสมบูรณ์แบบ
ทริคเด็ด! การใช้คุชชั่นให้ผิวสวย เนียนกริบ ติดทนนาน
การใช้คุชชั่นให้ผิวสวย เนียนกริบ และติดทน มีทริคต่างๆ ที่ควรรู้เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ดังนี้
ฉีดสเปรย์น้ำแร่ลงพัฟก่อน
สำหรับคุชชั่นเนื้อแมทท์ที่ให้การปกปิดสูง และไม่เน้นความฉ่ำ สามารถเพิ่มความฉ่ำให้ผิวได้โดยการฉีดสเปรย์น้ำแร่ลงบนพัฟก่อนใช้ จากนั้นแตะคุชชั่น แล้วเกลี่ยลงบนผิวหน้า น้ำแร่จะช่วยให้เนื้อคุชชั่นเบลนด์เข้ากับผิวได้ดีขึ้น ทำให้ผิวดูโกลว์สวย และดูชุ่มชื้น
เกลี่ยพัฟที่ฝาปิดคุชชั่น ก่อนแตะผิวหน้า
การเกลี่ยพัฟที่ฝาปิดคุชชั่นก่อนแตะผิวหน้า ทำได้โดยใช้พัฟถูที่ฝาปิดคุชชั่นเบาๆ เพื่อเกลี่ยให้เนื้อคุชชั่นกระจายทั่วพัฟมากยิ่งขึ้น จากนั้นใช้พัฟแตะเบาๆ ลงบนผิวหน้า โดยเริ่มจากจุดกลางของใบหน้าแล้วค่อยๆ เกลี่ยออกไปยังขอบหน้า เพราะจะช่วยให้เนื้อคุชชั่นกระจายตัวได้ดี และเรียบเนียน ไม่เป็นคราบ ทำให้ผิวดูสวย และติดทนตลอดวัน
แตะบางจุด และเกลี่ยบางจุด
ใช้การแตะพัฟบริเวณกลางหน้า และจุดที่ต้องการปกปิดเป็นพิเศษ จากนั้น ให้เกลี่ยพัฟในบริเวณกรอบหน้า เพื่อเบลนด์ให้เนื้อคุชชั่นบางลง ทำให้ผิวมีมิติ และติดทนมากขึ้น
ใช้แป้งฝุ่นช่วยเซตเนื้อคุชชั่น
คนที่มีผิวมัน หรือผิวผสม ควรใช้แป้งฝุ่นคุมมันแตะเบาๆ โดยเฉพาะในบริเวณ T-Zone เพื่อเซตเนื้อคุชชั่นให้อยู่ติดกับผิว ควรเลือกใช้แปรงปัดแป้ง ที่มีลักษณะเป็นพุ่ม สามารถปิดท้ายด้วยการใช้สเปรย์น้ำแร่เพื่อเพิ่มความติดทน และให้ผิวดูฉ่ำโกลว์สวยได้เช่นกัน
สรุป
คุชชั่น คือ ผลิตภัณฑ์แต่งหน้าที่บรรจุเนื้อครีมรองพื้นในตลับพร้อมพัฟ ซึ่งให้การปกปิด และความชุ่มชื้นในรูปแบบที่สะดวก แตกต่างจากรองพื้น ที่มักมาในหลอด หรือขวด มีหลากหลายเนื้อสัมผัส และระดับการปกปิด
คุณสมบัติเด่นของคุชชั่นคือการใช้ง่ายที่สะดวก รวมถึงให้ความชุ่มชื้น และปรับลุคได้ตามต้องการ พกพาสะดวก เหมาะสำหรับลุคธรรมชาติ และการทัชอัประหว่างวัน วิธีใช้เพื่อให้ผิวสวย และติดทน เช่น เลือกให้ตรงกับสีผิว และประเภทผิว ใช้พัฟในการทา และเซตด้วยแป้งฝุ่นคุมมันอีกที แค่นี้ก็ทำให้ลุคการแต่งหน้าออกมาดูสวยแล้ว
Reference
ภูริตา บุญล้อม. CRACKED: คุชชันตลับแรกของโลกเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร?. thestandard.co. Published 10 June 2022. Retrieved 9 September 2024.