22 APR 2024 บทความผลิตภัณฑ์ 4 นาทีในการอ่าน 232 VIEWS

ฝ้า กระคืออะไร มีกี่แบบ แต่ละแบบเกิดจากอะไร ป้องกันฝ้ากระได้อย่างไร

ฝ้า กระเป็นปัญหาผิวที่มักเกิดจากแสงแดดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์เม็ดสีทำงานหนักขึ้น ผิวส่วนนั้นจึงเป็นปื้นดำ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ควรป้องกันให้ตรงจุดและถูกวิธี

ฝ้าคืออะไร

ฝ้าคือภาวะผิวหนังที่มีเม็ดสีมากเกินปกติ เนื่องจากมีปัจจัยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ให้ผลิตเม็ดสีหรือเมลานินเพิ่มขึ้น6 โดยฝ้าจะมีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีดำในบริเวณที่มีแสงตกกระทบบ่อย เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม เป็นต้น และสาเหตุของการเกิดฝ้ามีหลากหลายปัจจัย เช่น  แสงแดด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์ หรือการกินยาคุมกำเนิด ซึ่งฝ้ามักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ช่วงอายุเฉลี่ย 30-40 ปี1,2

ประเภทของฝ้า

มาทำความรู้จักกับชนิดของฝ้า เพื่อที่จะได้หาวิธีรักษาฝ้าแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม โดยฝ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท  ได้แก่

  • ฝ้าแดด คือฝ้าที่เกิดจากรังสียูวีทั้ง UVA และ UVB ในแสงแดด ทั้งนี้ ฝ้าแดดสามารถเกิดได้จากแสงหลอดไฟ และแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟนได้อีกด้วย
  • ฝ้าเลือด หรือที่เรียกกันว่าฝ้าแดง คือฝ้าที่เกิดจากความผิดปกติของเลือด หรือฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งผิวหนังจะมีลักษณะแดงเมื่อสัมผัสความร้อน หรือแสงแดด

ฝ้า กระ แตกต่างกันอย่างไร

ฝ้าจะมีลักษณะเป็นรอยปื้นบนผิวหนังของผู้หญิงที่มีผิวเข้ม เพราะผิวหนังถูกกระตุ้นให้ผลิตเม็ดสีมากกว่าปกติ ซึ่งความเข้ม และความลึกของฝ้ามีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งนี้ฝ้าจะเกิดในบริเวณที่สัมผัสแดดเป็นประจำ ส่วนกระจะมีลักษณะเป็นจุดผื่นสีน้ำตาลจางๆ กระจายทั่วบริเวณมีขนาด 5 มิลลิเมตร  พบได้ทั้งบริเวณใบหน้า หลังมือและแขน  มักเกิดในผู้ที่มีสีผิวขาวมากกว่าผู้ที่มีผิวคล้ำ1

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า

กรรมพันธุ์ แสงแดด ความเครียด พฤติกรรมการกินอาหาร ฮอร์โมนล้วนเป็นทั้งสาเหตุ และปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้าได้ง่ายขึ้น

แสงแดด

แสงแดดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้าบนใบหน้า เพราะแสงแดดประกอบไปด้วยรังสี UV ทั้ง UVA, UVB และ แสงที่ตามองเห็น (Visible light) ก่อเป็นอนุมูลอิสระเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำลายผิวหนังบนใบหน้า จนเกิดเป็นกระลึก และฝ้าแดด ไปจนถึงโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งผิวหนังได้2

ฮอร์โมนที่ผิดปกติ

หากฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้เซลล์ผิวหนังผลิตเม็ดสีมากขึ้น ซึ่งสาเหตุของฮอร์โมนผิดปกติอาจมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์  ภาวะตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน เป็นต้น1,2,5

กรรมพันธุ์

ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างกรรมพันธุ์ถูกพบมากถึง 50% ในกลุ่มผู้ที่เป็นฝ้า2 และผู้ที่เป็นฝ้าจะมีพันธุกรรมที่เอื้อต่อการเป็นฝ้าแฝงอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ในปัจจุบัน3

ความเครียด

เมื่อร่างกายสะสมความเครียด จะปล่อยฮอร์โมนความเครียดออกมาทำให้กระบวนการทำงานในร่างกายเกิดการผลิตเม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้น และค่อยๆ สะสมจนเกิดเป็นฝ้า กระ1

กินอาหารไม่เหมาะสม

การกินอาหารไม่เหมาะสม เช่น การกินอาหารที่ประกอบไปด้วยไขมันหรือน้ำตาลสูง จำพวกอาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ดต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำร้ายสุขภาพผิว ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระทำร้ายเซลล์ในร่างกาย รวมทั้งเซลล์ผิวหนัง และเกิดเป็นปื้นฝ้าในผู้ที่มีภาวะตับปกติ หรือผู้ที่ขาดวิตามินบี 12 1,2

การกินยาคุมติดต่อกันนาน

การกินยาคุมอาจส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายซึ่งผู้ที่กินยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานนั้น

เกิดฝ้า กระได้ง่ายกว่า1 เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศเป็นส่วนประกอบทำให้เซลล์ผิวหนังถูกกระตุ้นให้ผลิตเมลานินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนทำการกินยาคุมกำเนิด

เครื่องสำอางที่ส่งผลต่อผิวหน้า

การใช้เครื่องสำอางที่มีฮอร์โมนเป็นส่วนผสม อาจทำให้เกิดปัญหา ฝ้า กระ ที่มากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องสำอางมีส่วนผสมของสารเคมี หรือสารปรอทที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย เพราะสารเหล่านี้จะทำให้เม็ดสีทำงานผิดปกติ และส่งผลเสียกับผิวหนังเป็นปื้นฝ้า กระนั่นเอง1,2,5

การจัดการ และรักษาปัญหาฝ้า

การจัดการ และรักษาปัญหาฝ้า

วิธีจัดการฝ้าและรักษาปัญหาฝ้ามีหลากหลายวิธี เมื่อได้ทราบปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดฝ้าแล้ว ทำให้สามารถเลือกวิธีจัดการฝ้า และรักษาปัญหาฝ้าได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยฝ้าสามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

การทายา

กลุ่มยาทารักษาฝ้านั้นมีหลายประเภท ทั้งกลุ่มที่เห็นผลลัพธ์ช้า และกลุ่มที่เห็นผลลัพธ์ไว ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงตามมา โดยตัวยารักษาฝ้าจะมีส่วนผสมหลักคือ ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) ช่วยยับยั้งการผลิตเม็ดสีโดยไม่ได้ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนัง4 ซึ่งปริมาณการใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จากได้รับยาในปริมาณที่ไม่เหมาะสม

การกินยา

นอกเหนือจากการทายาแล้ว การกินยากลุ่ม Tranexamic acid ที่มีการรองรับจากทางแพทย์ว่าสามารถช่วยให้ฝ้าจางลงได้4 แต่มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ดังนั้น ควรปรึกษากับแพทย์ผิวหนังให้ทำการประเมินก่อนจ่ายยากินกลุ่มนี้

ทาเซรั่มวิตามินซี

การทาเซรั่มวิตามินซีจะช่วยให้ผิวมีความแข็งแรงมากขึ้น ลดการลุกลามของฝ้าไม่ให้มีตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากกรดในวิตามินซี จะช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออก ให้ฝ้า กระ รวมทั้งจุดด่างดำต่างๆ ลดความเข้มลง และยังช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสมากขึ้นอีกด้วย5

การผลัดผิวด้วยกรด (Chemical peeling)

การผลัดผิวด้วยสารที่มีกรด TCA หรือกรดผลไม้ จะช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดลอกออก และเร่งการสร้างเซลล์ใหม่มาทาแทนที่4 ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากมีโอกาสเกิดผลข้างเคียง และรอยดำขึ้น การผลัดผิวด้วยกรดจึงต้องได้รับการควบคุมดูแลจากแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายนั่นเอง 

การเลเซอร์

การเลเซอร์เป็นการรักษาฝ้า กระ อีกวิธีหนึ่งโดยใช้คลื่นพลังงานแสงร่วมกับคลื่นวิทยุในการทำลายเม็ดสีที่ผิดปกติหรือเม็ดสีส่วนเกิน5 หากเป็นเลเซอร์ที่ได้มีมาตรฐานจะไม่ทำให้ผิวบางหรือไวต่อแดด ดังนั้นควรเลือกแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านเฉพาะทางเพื่อวิเคราะห์ปัญหา และประเมินการเลือกชนิดเลเซอร์ให้เหมาะสม

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดฝ้า

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดฝ้า

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าแดด หรือไม่ให้ฝ้าเข้มขึ้น สามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ ด้วยการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันที่ต้องออกไปพบแสงแดด เช่นการทาครีมกันแดด เพราะครีมกันแดดมีสารปกป้องผิวหนังจากรังสียูวีที่เป็นปัจจัยสำคัญของสาเหตุการเกิดฝ้า กระ6  ดังนั้น หากต้องออกไปทำกิจกรรมที่โดนแสงแดดสัมผัสในปริมาณสูง ควรเลือกครีมกันแดดที่มี SPF ที่เหมาะสมจึงจะเป็นวิธีแก้ฝ้าแดดที่ดีที่สุด รวมทั้งการเลือกใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของวิตามินซีควบคู่จะช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้น ลดรอยฝ้า กระ จุดด่างดำต่างๆ ให้สีผิวดูสม่ำเสมอยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีปัญหาฝ้าระดับรุนแรง หรือมีโรคผิวหนังชนิดอื่นร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการประเมินผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม

สรุป

ฝ้าคือเซลล์ผิวหนังที่ผลิตเม็ดสีเกินปกติ มีลักษณะปื้นสีน้ำตาลบนผิวหนัง เช่น ใบหน้า หลังมือ หรือแขน ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดการสัมผัสแดดเป็นประจำ ฝ้าสามารถเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก เช่น แสงแดด กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน พฤติกรรมการกินอาหาร ความเครียด เป็นต้น ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายและทำการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าหรือกระบนใบหน้า และผิวหนังบริเวณอื่นๆ

References

  1. โรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ. ฝ้า กระ ศัตรูผิวตัวร้าย ทำลายความมั่นใจ bpksamutprakan.com. (no date)  Retrieved 29 February 2024. 

  2. Samitivej Hospital. ฝ้า คำคุ้นๆ ที่ไม่ควรมองข้าม samitivejhospitals.com. (no date) Retrieved 29 February 2024. 

  3. tpa. ฝ้า (Melasma) คืออะไร มีกี่ประเภท พร้อมวิธีรักษาฝ้าให้หายขาด tpa.or.th. (no date)  Retrieved 29 February 2024. 

  4. โรงพยาบาลขอนแก่นราม. 5 คำถาม ? ว่าด้วยเรื่อง ‘ฝ้า’  khonkaenram.com. (no date) Retrieved 29 February 2024. 

  5. Nakornthon Hospital. เคล็ด(ไม่)ลับขจัดฝ้า คืนความมั่นใจให้หน้าเนียนใสอีกครั้ง nakornthon.com  (no date)  Retrieved 29 February 2024. 

  6. Pobpad. วิธีรักษาฝ้าและป้องกันฝ้าให้ได้ผล Pobpad.com. (no date) Retrieved 29 February 2024.