10 JUN 2024 บทความผลิตภัณฑ์ 8 นาทีในการอ่าน 462 VIEWS

7 มลพิษทางน้ำ ที่เราอาจดื่มอยู่ทุกวัน แบบไม่รู้ตัว

แน่ใจได้อย่างไร ว่าน้ำที่ดื่มอยู่ทุกวันไม่มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่? เพราะปัจจุบันน้ำดื่มยี่ห้อต่างๆ ถูกตรวจพบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ดังนั้น จึงต้องมีวิธีป้องกันมลพิษทางน้ำเข้าสู่ร่างกาย

มลพิษทางน้ำส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกาย?

‘น้ำ’ เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งในด้านการอุปโภค และบริโภค การมีน้ำที่สะอาดใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็น น้ำที่มีสิ่งปนเปื้อนอยู่มาก จนเป็นมลพิษทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลายด้าน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยใกล้เขตอุตสาหกรรม มักจะประสบปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษในน้ำ เมื่อสัมผัสกับน้ำจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง และโรคติดเชื้ออื่นๆ

นอกจากนี้ การสัมผัสกับสารพิษกลุ่มโลหะหนักจำพวกปรอท ตะกั่ว หรือสารหนู รวมไปถึงสารพิษกลุ่มปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารเคมีต่างๆ จากการทำเกษตรกรรมซึมลงสู่ดิน และแหล่งน้ำ เป็นระยะเวลานาน จะส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในร่างกาย และในขั้นร้ายแรง จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งได้1

สารเคมีปนเปื้อนในน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ยังไง?

สารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ในหลายทาง ทุกๆ คนมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับมลพิษทางน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะในแหล่งน้ำสกปรก อาจมีสารปนเปื้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยทั่วไป สารปนเปื้อนเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนี้1

  • การสัมผัส โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำเน่าเสีย หรือมีสารเคมีปนเปื้อน จะมีโอกาสสัมผัสกับสารพิษทางผิวหนัง และดวงตาโดยตรง หรือในกรณีสัญจรทางเรือ ก็มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนในน้ำได้เช่นกัน
  • การกินหรือดื่ม เป็นอีกช่องทางที่สารเคมีปนปื้อนในน้ำจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง ซึ่งในบางกรณี สารเคมีจากน้ำสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ในทางอ้อม ผ่านการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำ ที่มาจากการทำเกษตรกรรม และปศุสัตว์ เป็นต้น
  • สัตว์เลี้ยงและสัตว์ที่เป็นพาหะ สัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงระบบเปิด และสัตว์ฟันแทะอย่างหนู เป็นตัวนำเชื้อโรคจากแหล่งน้ำสกปรกมาสู่คน ทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่อันตรายต่อร่างกายได้
  • แมลง เป็นพาหะนำโรคต่างๆ ได้ เช่น แมลงวัน ยุงลาย หรือแมลงตัวเล็ก โดยจะนำเชื้อโรคมาสู่คนได้ ทั้งจากการกัด หรือการตอม หากเป็นแมลงที่มีเชื้อโรค ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

ระวัง! 7 มลพิษทางน้ำ พร้อมวิธีสังเกตอาการ

มลพิษทางน้ำ เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย สารบางชนิดไม่สามารถสังเกตเห็นอาการได้ทันที แต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ในกรณีรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับ 7 สารพิษที่ควรระวัง มีดังนี้

1. สาร PFAS

สาร PFAS เป็นกลุ่มสารพิษคงทนในน้ำ ประกอบไปด้วยสาร PFOS และ PFOA เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สารเคลือบผิวกระทะ สารลดแรงตึงผิวในแชมพู สารลดแรงตึงผิวในยาฆ่าแมลง สารเคลือบผิวในบรรจุภัณฑ์อาหาร สารเคลือบเสื้อกันฝน เป็นต้น ซึ่งสาร PFOS และ PFOA เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกำจัดได้ในโรงบำบัดน้ำเสีย จึงทำให้สาร PFOS และ PFOA ถูกปล่อยออกมาเจือปนอยู่ในแหล่งน้ำ และค่อยๆ สะสมอยู่ในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลาหลักร้อยปีเลยทีเดียว จึงเรียกได้ว่า สาร PFAS นั้น เป็นสารเคมีตลอดกาล (Forever Chemicals)2 นั่นเอง

สาร PFOS และ PFOA สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการกินอาหาร และเครื่องดื่มที่มีสารนี้ปนเปื้อนอยู่ และจากการศึกษาพบว่า สาร PFOS และ PFOA  สามารถทำให้เกิดเนื้องอกในสัตว์ในห้องทดลองได้ และยังส่งผลกระทบระยะยาวต่อการทำงานของร่างกายหลายประการ ดังนี้3

  • มีโอกาสเกิดเซลล์มะเร็ง
  • การหยุดชะงักของไทรอยด์ฮอร์โมน
  • การทำงานของระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ
  • พัฒนาการของทารก เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยลง
  • ประสิทธิภาพการทำงานของระบบหลอดเลือดหัวใจลดลง
  • ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
  • ลำไส้อักเสบ
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง

อาการเมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

ผู้ที่ได้รับสาร PFOS และ PFOA เข้าสู่ร่างกาย จะยังไม่มีอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน สาร PFOS และ PFOA จะอยู่ในเลือด และส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายในส่วนต่างๆ ในระยะยาว

2. ไมโครพลาสติก

ไมโครพลาสติก เป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เกิดจากการย่อยสลายแตกหักของขยะพลาสติก หรือการสร้างพลาสติกขนาดเล็กเพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้จากการกิน บางกรณีก็ปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่ม หรืออยู่ในอาหารที่กินในแต่ละวัน ทั้งนี้ หากร่างกายได้รับไมโครพลาสติกในน้ำดื่ม และอาหารในระยะเวลานาน อาจเสี่ยงต่อโรคอันตราย เช่น โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เพราะไมโครพลาสติกจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด นอกจากนี้ยังรบกวนฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็ก และเป็นตัวกลางนำสารพิษ เป็นต้น

อาการเมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

ไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายจะสะสมอยู่ในร่างกาย ไม่แสดงอาการทันที แต่เมื่อสะสมตกค้างอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน และปริมาณมาก จะก่อผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้

3. สารปรอท

สารปรอท เป็นโลหะหนักสีขาวมันวาว มีทั้งรูปแบบของเหลว ของแข็ง และแก๊ส มักใช้เป็นส่วนประกอบของการผลิตสิ่งของต่างๆ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ บารอมิเตอร์ หลอดไอปรอท หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งสารปรอทเป็นสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ จึงปนเปื้อนอยู่ในปลา และอาหารทะเลด้วย ดังนั้น สารปรอทสามารถเข้าสู่ร่างกายคนเราได้โดยการกินอาหารที่ปนเปื้อน การสูดดมสารระเหย และการสัมผัสทางผิวหนัง เมื่อร่างกายได้รับสารปรอทในปริมาณมาก หรือเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ตับ และไตอักเสบ สมองถูกทำลาย โลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

อาการเมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

สารปรอทสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ผู้ที่รับสารปรอทเข้าร่างกายจะมีอาการระยะสั้นที่สังเกตได้ ดังนี้4

  • ไอ เจ็บคอ
  • เจ็บหน้าอก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ได้กลิ่นโลหะในปาก
  • ปวดศีรษะ
  • ผื่นแดง
  • ระคายเคือง
  • ความดันโลหิตสูง

4. สนิม

สนิม เป็นอีกหนึ่งสารที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากพบว่าถูกปะปนอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะท่อที่ใช้ส่งน้ำทำมาจากเหล็ก เมื่อเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับน้ำ ทำให้เกิดเป็นสนิมสีแดงปนมากับน้ำ มีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นสนิม การเข้าสู่ร่างกาย ส่วนมากจะเกิดจากการกิน และการสัมผัส หากได้รับสนิมเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อการทำงานของตับ และภาวะเหล็กเกิน บางรายอาจมีเม็ดสีที่ผิวหนังทำให้ผิวหนังกลายเป็นสีเทา5

อาการเมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

เมื่อได้รับสนิมเข้าสู่ร่างกาย ทั้งจากการสัมผัส และการกิน จะทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • อาการระคายเคืองผิวหนัง
  • อาการแพ้
  • ภาวะเหล็กเกิน

5. สารตะกั่ว

สารตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่ใช้ในแวดวงอุตสาหกรรม เช่น การเชื่อมโลหะ การบัดกรี การหุ้มสายเคเบิล การทำสี การก่อสร้าง เครื่องเคลือบ การพิมพ์ลายผ้า เป็นต้น สารปนเปื้อนในน้ำที่มาจากอุตสาหกรรมจะถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ และสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้จากการกิน และการสูดดม เมื่อสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน และปริมาณมาก จะส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนเป็นอัมพาตได้ในที่สุด

อาการเมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

เมื่อได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจะมีอาการ ดังนี้6

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องผูก หรือปวดท้องมาก
  • กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย หรือเป็นอัมพาต
  • มีอาการทางประสาท เช่น ความจำเสื่อม กระสับกระส่าย เพ้อ สั่น เป็นต้น
  • อาการชัก

6. แคดเมียม

แคดเมียมเป็นสารในกลุ่มโลหะหนัก จะพบอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง เป็นต้น แคดเมียมมักจะพบปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำใกล้เหมือง แหล่งน้ำทิ้ง หรือน้ำเน่าเสีย โดยทั่วไป จะพบแคดเมียมผสมอยู่ในสีทาบ้าน โดยแคดเมียมจะเข้าสู่ร่างกายจากการสูดดม หรือการกินอาหารทะเลที่ปนเปื้อนแคดเมียม โดยเฉพาะสารปนเปื้อนในน้ำที่มาจากอุตสาหกรรม ที่ถูกปล่อยออกมาในรูปแบบน้ำเสีย เมื่อร่างกายได้รับสารแคดเมียมในระยะยาว จะทำให้ปอด ตับ หรือไตถูกทำลาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดโรคอิไตอิไต ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยที่ทำให้ร่างกายเดินไม่ได้ เหมือนกระดูกสันหลังถูกกด

อาการเมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

อาการเมื่อได้รับสารแคดเมียม ที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้ 7

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย ปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ และปอด
  • เจ็บคอ
  • หายใจสั่น
  • เสมหะเป็นเลือด
  • น้ำหนักลด
  • โลหิตจาง

7. ไนเตรต

ไนเตรต เป็นสารเคมีที่ใช้เป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์อาหาร ช่วยทำให้เกิดสีในเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์แปรรูป มักจะนำมาใช้เป็นวัตถุเจือปนในอาหาร เมื่อมีการทิ้งอาหารเสียลงสู่แหล่งน้ำ หรือการปล่อยสารปนเปื้อนในน้ำที่มาจากอุตสาหกรรม ทำให้ไนเตรตเจือปนอยู่ในแหล่งน้ำจนกลายเป็นมลพิษทางน้ำ ไนเตรตเข้าสู่ร่างกายด้วยการกิน หากได้รับไนเตรตในระยะยาว จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต9 

อาการเมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

เมื่อร่างกายได้รับไนเตรต จะเกิดอาการที่สังเกตได้ ดังนี้8

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดหัว เวียนหัว
  • ปวดท้องรุนแรง ท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด
  • ระบบไหลเวียนโลหิตมีปัญหา ริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ
  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • หัวใจเต้นเร็ว

วิธีป้องกันมลพิษทางน้ำเข้าสู่ร่างกาย

วิธีป้องกันไม่ให้มลพิษทางน้ำเข้าสู่ร่างกาย และเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในบ้าน ควรทำดังนี้

เลี่ยงการใช้น้ำบาดาล

เลี่ยงการใช้น้ำบาดาล เป็นวิธีการป้องกันการสัมผัสมลพิษทางน้ำได้ เพราะแม้ว่าน้ำบาดาลจะเป็นน้ำที่มีการกรองโดยธรรมชาติ แต่ในปัจจุบัน น้ำบาดาลยังคงพบการปนเปื้อนของสารพิษหลายชนิด จากการที่มีการปล่อยสารเคมีอันตรายสู่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ฟีนอล โครเมียม ปรอท สารหนู สารกัมมันตรังสี เป็นต้น ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำบาดาลในชีวิตประจำวัน ทั้งการอุปโภค และบริโภค10

ไม่ดื่มน้ำประปาจากก๊อกโดยตรง

น้ำประปาในประเทศไทยเป็นน้ำที่สะอาด เพราะผ่านกระบวนการการควบคุมคุณภาพน้ำ จนมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยในการอุปโภค แต่อาจจะยังไม่สามารถบริโภคน้ำประปาโดยตรงได้ เพราะยังมีคลอรีนผสมอยู่มาก และท่อประปาที่มีอายุการใช้งานนาน อาจจะมีปัญหาเหล็ก และแมงกานีส ทำให้น้ำมีกลิ่นสนิม และกลิ่นคาวได้

ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ

ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ

เนื่องจากแหล่งน้ำหลักๆ ของการอุปโภค และบริโภค คือน้ำประปา ที่แม้จะมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการดื่ม และการใช้ ดังนั้น การติดตั้งเครื่องกรองน้ำ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่จะได้บริโภคน้ำที่สะอาดปลอดภัย โดยควรเลือกเครื่องกรองน้ำที่ได้รับรองมาตรฐาน ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดความปลอดภัย มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และได้รับการรับรองในส่วนของการกำจัดสิ่งปนเปื้อนที่เกิดขึ้นใหม่ในน้ำ ทั้ง Microplastic, PFOA/PFOS ปรอท แคดเมียม ไนเตรต ตะกั่ว และสารอื่นๆ พร้อมยังมีคุณประโยชน์ช่วยคงแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งแคลเซียม และแมกนีเซียมได้ด้วย

สรุป

มลพิษทางน้ำเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสารเคมีปนเปื้อนในน้ำได้ สารพิษที่มักพบเจือปนอยู่ในน้ำ เช่น สาร PFAS ไมโครพลาสติก สารปรอท สนิม สารตะกั่ว แคดเมียม และไนเตรต สารพิษต่างๆ เหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ทั้งทางการสัมผัส การสูดดม และการกิน การได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายในระยะยาว มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้หลายโรค เช่น มะเร็ง หลอดเลือด โรคเกี่ยวกับระบบโลหิต อัมพาต เป็นต้น 

การได้ดื่มน้ำสะอาดในทุกๆ วัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และการเลือกเครื่องกรองน้ำที่ได้มาตรฐานอย่าง eSpring ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะได้ผ่านมาตรฐาน NSF 42, 53, 55 และ 401

ที่สามารถกรองสารพิษได้ 170 ชนิด โดยเฉพาะสารอันตรายอย่าง PFOA/PFOS และไมโครพลาสติก อีกทั้งยังเป็นรายแรกที่ใช้การบำบัดน้ำด้วย UV-C LED ที่ได้รับรอง NSF/ANSI 55 ฆ่าเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรียได้ 99.99%*,**,*** จึงมั่นใจได้ว่าทุกคนในครอบครัวจะได้ดื่มน้ำสะอาดปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

* เครื่องกรองน้ำ อีสปริง ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับน้ำประปาที่ผ่านการบำบัดเพื่อการบริโภคแล้วเท่านั้น ไม่มีผลในการป้องกันหรือบรรเทาโรค

** ผ่านการทดสอบโดยห้องทดลองอิสระตามมาตรฐาน NSF (NSF/ANSI 42, 53, 55 และ 401) อีกทั้งในส่วนของการทดสอบการลดสารปนเปื้อนนอกเหนือจากในมาตรฐาน NSF ก็ได้รับการรับรองจาก NSF International

*** ผ่านการทดสอบโดยห้องทดลองอิสระตามมาตรฐาน NSF/ANSI 55 โดยใช้ qBeta bacteriophage เป็นเชื้ออ้างอิงในการทดสอบ

Reference

  1. Pobpad. ผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางน้ำและช่องทางการสัมผัส. pobpad.com. Retrieved 14 May 2024.

  2. Thiraphon Singlor. จำเป็นต้องยกเลิกการใช้สารเคมี PFAS ‘ในทุกกรณี’. sdgmove.com. Published 12 January 2022. Retrieved 14 May 2024.

  3. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค). ภัยใกล้ตัวจากสารมลพิษคงทนในน้ำ PFOS และ PFOA. mtec.or.th. Retrieved 14 May 2024.

  4. Pobpad. สารปรอท สารอันตรายใกล้ตัวที่ควรระวัง. pobpad.com. Retrieved 14 May 2024.

  5. ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP. การปรับปรุงคุณภาพน้ำที่มีสนิมเหล็กเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค. otop.dss.go.th. Retrieved 14 May 2024.

  6. DSS.go.th. ตะกั่วในน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม. DSS.go.th. Retrieved 14 May 2024.

  7. Mahidol. แคดเมียม. mahidol.ac.th. Retrieved 14 May 2024.

  8. กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. คำถาม : ไนเตรทและไนไตรท์ มีอันตรายต่อร่างกายอย่างไร?. lib1.dss.go.th. Published 20 January 2023. Retrieved 14 May 2024.

  9. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  อันตรายจากสารไนเตรต-ไนไตรต์. pharmacy.mahidol.ac.th. Published 29 June 2016. Retrieved 14 May 2024.

  10. ธริสรา จิรเสถียรพร และคณะ. การปนเปื้อนของโลหะหนักในน้ำบาดาล. kukrdb.lib.ku.ac.th. Published May-August 2019. Retrieved 14 May 2024.